เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/พ.1652
วันที่: 22 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินผู้อื่น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 82/3
ข้อหารือ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ขอคืนภาษีซื้อจาก
การก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นของนาง ข. ซึ่งได้ให้ บริษัท ค. จำกัด
เช่ามีกำหนดเวลา 20 ปี บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์มาทำการก่อสร้างเองในวงเงิน 3,480,000
บาท บริษัทฯ ได้ทำสัญญาแต่งตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นผู้ประกอบการ โดยยกกรรมสิทธิ์ของอาคาร
วัสดุอุปกรณ์ และสถานีบริการน้ำมันให้กับห้างฯ และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าชดเชยเงินลงทุนสถานี
บริการน้ำมัน จากห้างฯ เป็นเงิน 3,480,000 บาท โดยออกใบกำกับภาษีให้กับห้างฯ เพื่อนำไปใช้เป็น
ภาษีซื้อ ซึ่งจังหวัดเห็นว่า อาคารสถานีบริการน้ำมันที่ก่อสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ค. จำกัด ตาม
บันทึกข้อตกลง โดยบริษัทฯ เป็นผู้สร้างเองแต่ยกกรรมสิทธิ์ให้ห้างฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ สัญญาจึงขัดกัน
ในตัว ห้างฯ ไม่มีสิทธิ์นำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารไปใช้
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีเงินชดเชยที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากห้างฯ ถือเป็นค่าบริการตามมาตรา 77/1
(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้
ชำระค่าบริการให้แก่บริษัทฯ แล้ว ห้างฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวไป
หักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีเงินชดเชยที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างฯ ตาม
(1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างฯ ไม่ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ ห้างฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อ
จากการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เลขตู้: 61/27117

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020