เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.14009
วันที่: 28 กันยายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการออกใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, คำสั่งกรมสรรพากร ป.71/2541ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการรับฝากสินค้าเหลวในคลังเก็บสินค้า ทำสัญญารับฝากสินค้าไว้กับ
ลูกค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 โดยคิดค่าบริการรับฝากเป็นเงินตรา
ต่างประเทศ (เหรียญสหรัฐอเมริกา) แต่การชำระค่าบริการจริงสัญญากำหนดไว้ให้ชำระเป็นเงินบาทใน
จำนวนเทียบเท่ากับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีวิธีคำนวณ 2 วิธี แล้วแต่ข้อกำหนดในสัญญากับลูกค้าแต่ละ
ราย คือ
1. บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้เป็นเงินบาท โดยคำนวณค่าบริการเป็นเงินบาทจากอัตรา
ค่าบริการตามสัญญาซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของอัตราซื้อและอัตรา
ขายทางโทรเลขของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ณ วันที่ออกใบแจ้งหนี้ (กำหนดไว้ในสัญญา) โดยใบแจ้งหนี้
ระบุค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศข้างต้น เมื่อได้
รับเงินบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ดังกล่าว
2. บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน บริษัทฯ จะ
ออกใบกำกับภาษี โดยคำนวณค่าบริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จากอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บซึ่งเป็น
เงินตราต่างประเทศ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของอัตราขายทางโทรเลขของธนาคารพาณิชย์แห่ง
หนึ่ง ณ วันถึงกำหนดชำระเงินในใบแจ้งหนี้ (กำหนดไว้ในสัญญา)
ตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า บริษัทฯ ได้ตกลงค่าบริการและได้รับ
ชำระเงินจากลูกค้าเป็นเงินบาท จึงสามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีซึ่งเป็นเงินบาทที่บริษัทฯ
ได้รับ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
71/2541 ฯ จึงขอทราบว่าความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ และหากมีการทำสัญญาในทำนอง
เดียวกันนี้อีก หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 บริษัทฯ จะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร เพื่อบริษัทฯ
จะได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
แนววินิจฉัย: 1. ใบแจ้งหนี้ไม่ใช่เอกสารการค้าที่กฎหมายกำหนดให้ต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็น
เงินตราไทยเพื่อปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
2. กรณีตาม 1. และ 2. การให้บริการโดยสัญญากำหนดให้ชำระค่าบริการเป็นเงินตรา
ต่างประเทศหรือกำหนดให้ชำระเป็นเงินบาท โดยเทียบกับเงินตราต่างประเทศข้างต้นถือเป็นการ
ให้บริการรับฝากสินค้าเหลวให้กับลูกค้าในราชอาณาจักร โดยตกลงราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 บริษัทฯ จึงต้องแสดงมูลค่าของบริการและ
จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราไทย โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตรา
อ้างอิง (อัตราซื้อถัวเฉลี่ย) ประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนใน
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 2 (1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.71/2541 ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2541
ดังนี้
(1) กรณีได้รับชำระโดยวิธีโอนเงินผ่านธนาคาร ให้ใช้อัตราซื้อถัวเฉลี่ยทางโทรเลข
(2) กรณีได้รับชำระเป็นเช็คหรือตั๋วแลกเงิน ให้ใช้อัตราซื้อถัวเฉลี่ยทางตั๋วเงิน
เลขตู้: 61/27134

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020