เลขที่หนังสือ | : กค 0811/14069 |
วันที่ | : 29 กันยายน 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา65 ทวิ (9), กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน มีรายได้เกิดจากการรับ โฆษณาสินค้าให้กับบริษัทฯ และเอกชนโดยทั่วไป แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ทำให้ลูกหนี้ของบริษัทฯ ได้เลิกกิจการหรือย้ายภูมิลำเนาหลบหนีไป โดยไม่อาจตรวจสอบหรือตามหาตัวได้ ทำให้บริษัทฯไม่สามารถติดตามเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ ต้องตัดเป็นหนี้สูญตามกฎหมาย บริษัทฯ จึงขอทราบ ทางปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ดังนี้ 1. ในกรณีหนี้ที่เกินกว่า 500,000 บาท โดยลูกหนี้ได้เลิกกิจการไปแล้ว จะต้องทำ อย่างไร จึงจะถือว่าได้มีการติดตามทวงถามโดยมีหลักฐานชัดเจน กรณีให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไป แต่ไม่มีผู้รับ โดยแจ้งว่าลูกหนี้ไม่อยู่ตามที่อยู่ที่จ่าหน้า เมื่อไปตรวจสอบปรากฏว่า ไม่มีบริษัทฯ ลูกหนี้อยู่ ตามที่อยู่ที่ได้จดทะเบียนไว้ บริษัทฯ จะนำหนี้ดังกล่าวมาตัดหนี้สูญได้หรือไม่ อย่างไร 2. ในกรณีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท หากบริษัทฯ มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องแล้ว บริษัทฯ สามารถนำเอาสำเนาภาพถ่ายคำฟ้องหรือเลขคดีที่ฟ้อง เสนอให้กรรมการบริษัทฯ มีคำสั่งอนุมัติ ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญได้ทันทีหรือไม่เพียงใด 3. กรณีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท หากบริษัทฯ ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือ ทวงถามและให้เวลาพอสมควรแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ชำระ กรณีเช่นนี้ หากบริษัทฯ เห็นว่า ถ้าฟ้องคดีจะไม่ คุ้มค่าใช้จ่าย ที่มีความเห็นว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ต้องเป็นความเห็นของฝ่ายการเงิน บัญชีของบริษัทฯ หรือ ของกรรมการบริษัทฯและต้องมีหนังสือทวงถามกี่ครั้ง จึงจะตัดเป็นหนี้สูญได้ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. กรณีหนี้ที่เกิน 500,000 บาท การที่ลูกหนี้เลิกกิจการหลบหนีไป ไม่อาจ ตรวจสอบหรือหาตัวลูกหนี้ได้ ยังไม่เข้ากรณีลูกหนี้ถึงแก่ความตายเป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานแสดงว่าหนี้ ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สิน ของลูกหนี้และไม่เข้ากรณีได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ ในคดีที่ลูกหนี้ถูก เจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และได้มีคำสั่งแล้วลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ หรือได้ ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องใน คดีล้มละลาย และในคดีนั้น ๆ ศาลเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือมีการแบ่งทรัพย์สินกันของลูกหนี้แล้ว ทั้งนี้ตามนัยข้อ 4 และข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจาก บัญชีลูกหนี้ บริษัทฯ จึงจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ไม่ได้ 2. กรณีตาม 2. กรณีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท การที่บริษัทฯ ฟ้องคดีแพ่ง ลูกหนี้และศาล ได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง บริษัทฯ สามารถนำคำฟ้องดังกล่าวเสนอให้กรรมการบริษัทฯ มีคำสั่งอนุมัติให้ จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น บริษัทฯ ก็ สามารถจำหน่ายหนี้สูญได้ ทั้งนี้ตามนัยข้อ 5 (2) ข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ 3. กรณีตาม 3. กรณีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท หากได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ ชำระหนี้ตามสมควร ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และไม่ได้รับชำระหนี้ และกรรมการบริษัทฯ มีหลักฐาน น่าเชื่อถือได้จากทนายความหรือนักกฎหมายของบริษัทฯ เห็นว่าหากฟ้องลูกหนี้จะเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ ที่จะได้รับชำระก็สามารถจำหน่ายหนี้สูญได้ ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 6 และ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ |
เลขตู้ | : 61/27139 |