เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.14528 |
วันที่ | : 12 ตุลาคม 2541 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ โดยสำคัญผิดจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ทวิ (2), มาตรา 77/1(8)(10), มาตรา 81(1)(ต), มาตรา 82/3, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จำกัด ได้ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น เพื่อประกอบกิจการให้เช่าห้องพัก จำนวน 84 ห้อง แต่ละห้องจะมีมาตรวัดน้ำประปา ไฟฟ้า ซึ่งผู้เช่าจะเป็นผู้จ่ายตามปริมาณที่ใช้ และมีบริการโทรศัพท์ ผ่านศูนย์ของอาคาร ไม่มีบริการทำความสะอาดห้องพัก ซักรีด หรืออาหาร โดยเมื่อเริ่มก่อสร้างอาคาร ด้วยความสำคัญผิดบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะประเภทกิจการให้เช่าห้องพัก (มิได้ จดทะเบียนว่าประกอบกิจการขายน้ำประปา ไฟฟ้า หรือให้บริการโทรศัพท์) และได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงเฉพาะยอดซื้อและภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร ไม่มียอดขายและภาษีขายเพราะบริษัทฯ ยังไม่มีรายได้เนื่องจากอาคารก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และได้ขอคืนภาษีเป็นเงินสดสำหรับเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2540 แต่ยังไม่ได้รับแจ้งคืนเงินภาษี และในเดือนต่อ ๆ มาได้ยกไปเป็นเครดิตภาษี ความเห็นต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่ 1. บริษัทฯ มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการให้เช่าห้องพักได้ เพราะกิจการให้เช่าห้องพักได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีสิทธิจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนกิจการ ขายน้ำประปา ไฟฟ้า และการให้บริการโทรศัพท์ บริษัทฯ ยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป 2. บริษัทฯ จะนำภาษีซื้อไปรวมเป็นต้นทุนของอาคารเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยไม่นำไปเฉลี่ยเป็นภาษีซื้อเพื่อนำไปใช้เป็นเครดิตภาษีสำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ หรือไม่ หากจะนำภาษีซื้อในส่วนนี้ไปใช้เป็นเครดิตภาษี ภาษีซื้อจากค่าอะไรบ้างที่จะนำไปใช้ได้ 3. บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีบริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีซื้อเป็นเงินสด แต่ยังไม่ได้รับแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : 1. บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ ดังนี้ 1.1 ให้เช่าห้องพัก โดยไม่มีบริการทำความสะอาดหรือบริการอื่นใด เข้าลักษณะเป็น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร 1.2 ขายน้ำประปา ไฟฟ้า และการให้บริการโทรศัพท์ (ระบบสาธารณูปโภค) เป็น การขายสินค้าและให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 หรือมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงมีสิทธิยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ กิจการขายน้ำประปา ไฟฟ้าและให้บริการโทรศัพท์ได้ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการตามมาตรา 85 แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่กรณีตามข้อเท็จจริงด้วยความสำคัญผิด บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะ การให้เช่าห้องพัก ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการขาย น้ำประปา ไฟฟ้า และการให้บริการโทรศัพท์ ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึง มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถอนทะเบียนฯ ดังกล่าวแล้วไปยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องไปยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ต้องรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด ซึ่งมีผลให้บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับ ระบบสาธารณูปโภค ที่ถือเป็นต้นทุนโดยตรงของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร เช่น ค่าฐานราก ค่าโครงสร้าง ค่าออกแบบ และค่าจ้างเหมาก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นต้นทุนโดยตรงของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มี สิทธิ์นำภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษีในการยื่นแบบ ภ.พ.30 และ ขอคืนหรือเครดิตภาษี จึงเป็นการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่ แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (4) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร นับตั้งแต่เดือนภาษีที่นำภาษีซื้อดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษี แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีความสำคัญผิดในข้อกฎหมาย 2.1 บริษัทฯ อาจยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับมาที่คณะกรรมการ กพบ. ได้ตาม 7 แห่ง คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.37/2534 ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ 45/2536 ฯ ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2536 2.2 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยไม่มีภาษีขายแต่มีภาษีซื้อเกินไป ดังนั้น ใน การคำนวณภาษีจึงไม่มีจำนวนภาษีที่จะต้องชำระ บริษัทฯ จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นต้นทุนของอาคารเพื่อหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ยังไม่ได้ให้บริการเช่าห้องพัก และยังไม่ได้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มและ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใด ๆ จึงไม่มีความรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 61/27164 |