เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.14919
วันที่: 21 ตุลาคม 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา40 (8), มาตรา47 (6), มาตรา56, มาตรา77/1 (3) (5), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
ข้อหารือ: ชมรมฯ จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่ทำงานด้านป้องกันและฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการผ่าตัด
โรคหัวใจ ไม่มีฐานะเป็นมูลนิธิหรือสมาคม ชมรมฯ เป็นสมาชิกของ Asian-Pacific congress of
Cardiac Rehabilitation ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกได้มีโอกาสจัดการประชุมเกี่ยวกับการรักษา
ผู้ป่วยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูหัวใจทั่วโลกทุก 2 ปี ในปี 2542 ชมรมฯ ได้รับมอบหมายให้เป็น
เจ้าภาพจัดการประชุม 6th Asian-Pacific congress of Cardiac Rehabilitation ชมรมฯ
มีรายรับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังนี้
1. ค่าลงทะเบียนเข้ารับการอบรมจากผู้ที่เป็นสมาชิกและบุคคลภายนอก
2. เงินช่วยสนับสนุนจัดการประชุม
(1) เงินบริจาคโดยไม่มีค่าตอบแทน
(2) เงินบริจาคจากผู้จำหน่ายยาโรคหัวใจ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสถานที่จัด
นิทรรศการแสดงคุณภาพยา
รายรับดังกล่าวชมรมฯ นำไปเป็นค่าเดินทางของวิทยากร ค่าที่พัก โดยมิได้หวังผล
กำไร ชมรมฯขอทราบว่าการจัดประชุมในลักษณะนี้ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีชมรมฯ ได้จัดการประชุมในปี 2542 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ชมรมฯ มีฐานะ
เป็น "คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" ตามมาตรา 77/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีชมรมฯ ได้
รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อให้ความรู้ในเชิงวิชาการ และได้กระทำขึ้นในโอกาสที่
สำคัญพิเศษ เช่นกรณีนี้เท่านั้น มิได้กระทำเพื่อหาผลกำไรหรือทำเป็นปกติธุระ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการ
ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา 77/1 (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น ชมรมฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชมรมฯ มีฐานะเป็น "คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" เงินได้จาก
การจัดการประชุมฯ ตามข้อ 1 และข้อ 2 (1) (2) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40
(8)แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีกฎหมายอื่นใดยกเว้นภาษีเงินได้ให้ ดังนั้น คณะบุคคลดังกล่าวจึงต้อง
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณภาษีเงินได้
ให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม
ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)
พ.ศ. 2502 และหักลดหย่อนสำหรับคณะบุคคลได้รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 47 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรรายการใด ไม่สามารถเรียกใบเสร็จรับเงิน
จากผู้รับได้เพื่อให้มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีผู้รับเงินจริง ชมรมฯ อาจทำหลักฐานการจ่ายเงินที่ระบุชื่อ
ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร เลขที่ในบัตรประชาชน (กรณีบุคคลธรรมดา) วัน เดือน ปี
จำนวนเงิน รายการที่จ่าย และให้ผู้รับเงินลงชื่อไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่ายได้
เลขตู้: 61/27191

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020