เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/1906
วันที่: 29 ตุลาคม 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณผลขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 9, มาตรา 65 ทวิ (2)(5), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 ฯ, พระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ขยายโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และมีการทำสัญญากู้เงินจาก
ต่างประเทศเพื่อลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรและก่อสร้างติดตั้งเครื่องจักรเพื่อใช้ในโครงการ โดย
เครื่องจักรจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ ต่อเมื่อการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
และตามที่ได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 2
กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก จึงขอทราบ
ว่า ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อลงทุนซื้อและก่อสร้างติดตั้งเครื่องจักรในกรณี
ดังกล่าว บริษัทฯ จะบันทึกเป็นมูลค่าต้นทุนเครื่องจักรและต้นทุนในการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร ได้
หรือไม่
แนววินิจฉัย: ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการซื้อ
และลงทุนก่อสร้างติดตั้งเครื่องจักร ตามข้อเท็จจริงข้างต้นแยกการพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรยังไม่แล้วเสร็จ และไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้
งานได้ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินที่เกิดจาก
การกู้ยืมเพื่อใช้ลงทุนในการซื้อและก่อสร้างติดตั้งเครื่องจักรเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65 ทวิ (5)
วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไปรวมคำนวณ
เป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน เพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145)
พ.ศ. 2527
(2) กรณีการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ และอยู่สภาพที่พร้อมจะใช้งานได้แล้ว
ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการคำนวณค่าหรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทย
ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวถือเป็นผลขาดทุนจาก
อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน แต่ถ้าผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี
ที่สิ้นสุดลงในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคมพ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีการปรับปรุงระบบ
การแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 บริษัทฯ
อาจเลือกนำผลขาดทุนดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนหรือคำนวณตามส่วน
แห่งมูลค่าของหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีก็ได้
ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และ
รายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
เลขตู้: 61/27221

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020