เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.15567
วันที่: 9 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีของสถานบริการน้ำมัน
ข้อกฎหมาย: 86/8, มาตรา87/3, ประกาศอธิบดีฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2537
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ประกอบธุรกิจสถานบริการน้ำมัน ปตท. ลูกค้าผู้ใช้บริการมีทั้งที่จ่ายเป็น
เงินสดและเงินเชื่อ บริษัทฯ ได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในราคาขายตามมิเตอร์หัวจ่าย บริษัทฯ มี
ปัญหาเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีในการขายเงินเชื่อ กล่าวคือ เมื่อลูกค้าเติมน้ำมันแต่ละครั้ง บริษัทฯ
จะเก็บหลักฐานการเติมน้ำมันไว้ทุก 15 วัน จะรวบรวมหลักฐานการเติมน้ำมันหลาย ๆ ใบเพื่อทำใบวาง
บิล ใบเสร็จ และใบกำกับภาษีหนึ่งใบ ซึ่งเป็นยอดรวมของการเติมน้ำมัน ลูกค้าบางรายไม่ยอมรับโดย
ต้องการให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่เติมน้ำมัน แต่ลูกค้าบางรายยอมรับใบกำกับภาษีที่เป็นยอด
รวมเพียงใบเดียว การออกใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่มีการเติมน้ำมันในกรณีขายเงินเชื่อจะเป็นภาระแก่
บริษัทฯ และเสียค่าใช้จ่ายสูง
ขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีจากการขายน้ำมันของสถานบริการ บริษัทฯ
ได้ดำเนินการ 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1
1. เมื่อพนักงานขับรถของลูกค้าเงินเชื่อนำใบเติมน้ำมันมายื่นเติมน้ำมัน พนักงานจะเก็บใบ
เติมน้ำมันไว้เป็นหลักฐาน 1 ใบ
2. เมื่อครบ 15 วัน สถานบริการจะนำใบเติมน้ำมันแต่ละใบมาออกใบเสร็จรับเงิน/ใบ
กำกับภาษี (ใบเติมน้ำมัน 1 ใบ ต่อใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี 1 ใบ) โดยจะเว้นวันที่และชื่อ
ผู้รับเงิน จนกว่าลูกค้าจะชำระเงิน จึงจะลงวันที่ และลงลายมือชื่อผู้รับเงิน ส่วนการขายเป็นเงินสด จะ
ไม่มีเอกสารใด เว้นแต่ลูกค้าต้องการบิลเงินสด
วิธีที่ 2
1. เช่นเดียวกับวิธีที่ 1 ข้อ 1
2. เมื่อครบ 15 วัน สถานบริการจะนำใบเติมน้ำมันของลูกค้ามารวมยอดแต่ละชนิดของ
ผลิตภัณฑ์แล้วกรอกลงในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยเว้นวันที่และชื่อผู้รับเงินไว้กรอกเมื่อได้รับ
ชำระเงิน
3. จัดทำใบรับบิล ซึ่งจะมียอดรวมของใบเติมน้ำมัน พร้อมจำนวนเงินรวมและใบอื่นให้
ลูกค้ารอนัดชำระเงิน
จึงขอทราบ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการขายน้ำมัน
แนววินิจฉัย: เนื่องจากสถานบริการน้ำมันของบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เป็นกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
รายย่อย ให้บริษัทฯ ปฏิบัติในการออกใบกำกับภาษี ดังนี้
1. บริษัทฯ ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี ไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ
การขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องให้
ออกใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้
ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60)ฯ ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
2. กรณีบริษัทฯ ขายน้ำมันเชื้อเพลิงมีมูลค่าครั้งหนึ่งเกิน 1,000 บาท บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง
จัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้อง
ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
ผู้ซื้อสินค้าที่เรียกร้องนั้นพร้อมทั้งต้องจัดทำสำเนาใบกำกับภาษีทุกครั้งด้วย โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน
ต้องจัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าวในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องส่งมอบ
ใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ ตามมาตรา 87/3 ทั้งนี้ ตามมาตรา
86 แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี กรณีบริษัทฯ ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ซื้อรายเดียวหลายครั้งในหนึ่งวันทำการ
เพื่อความสะดวกให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมเพียงครั้งเดียว สำหรับการขาย
น้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ซื้อดังกล่าวในหนึ่งวันทำการก็ได้
เลขตู้: 61/27243

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020