เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/15586
วันที่: 10 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา65 ตรี (5), มาตรา77/1 (8), มาตรา82/5 (3)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) โดยบริษัทฯ
จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่ กฟฝ. โดยผ่านระบบส่งไฟฟ้าใหม่
ของ กฟฝ. โดยข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. บริษัทฯ จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่ กฟฝ. ทั้งนี้
บริษัทฯ จะมีหน้าที่ทำการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อทำการเชื่อมโยงระหว่างโรงไฟฟ้ากับระบบเดิม
ของ กฟฝ. ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตไฟฟ้า
2. ในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ จะประกอบด้วยเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้า
โดยเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจะมีลักษณะเป็นเสาโครงเหล็กซึ่งสามารถถอดประกอบได้ มีฐานเป็นเสาสี่เหลี่ยม
ประกอบต่อจากเสาคอนกรีตซึ่งฝังอยู่ในพื้นดิน แล้วเทคอนกรีตทับข้างบนนั้น ในการก่อสร้างดังกล่าวบริษัทฯ
เป็นผู้จัดหาเงินมาเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย โดยบริษัทฯ จะทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์กับผู้จำหน่ายอุปกรณ์
แล้วนำอุปกรณ์ไปใช้ในการก่อสร้างและทำสัญญาจ้างเหมากับผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรง โดยมีหน้าที่
ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบที่ กฟฝ. กำหนด จนกระทั่งงานแล้วเสร็จและผ่านการตรวจสอบ
และอนุมัติจาก กฟฝ. จึงถือว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัทฯ จำเป็นต้องใช้ที่ดินของราษฎร
เพื่อทำการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่กฟฝ. จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ในการประกาศเขตสำรวจและกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าในที่ดินของ
ราษฎร โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าทดแทนในการใช้ที่ดินที่ประกาศเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
และตั้งเสาไฟฟ้า แต่เนื่องจากระบบดังกล่าวมีการสร้างผ่านที่ดินของราษฎร โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.
การไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว จึงมีผลให้ระบบส่งไฟฟ้าใหม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กฟฝ. บริษัทฯ ผู้ก่อสร้างไม่มี
สิทธิเป็นเจ้าของระบบดังกล่าว เมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะไม่มีการส่งมอบให้ กฟฝ. เนื่องจาก กฟฝ. เป็น
เจ้าของมาโดยตลอด และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดบริษัทฯ จะกู้เพื่อเป็น
ค่าใช้จ่ายดังกล่าว กฟฝ. ยินยอมให้บริษัทฯ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวซึ่งรวมดอกเบี้ยในรูปของ
"เงินเพิ่มค่าระบบไฟฟ้า" (Added Facility Charge) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา
17 ปี โดยแยกเป็นรายการหนึ่งรวมอยู่ในใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจาก กฟฝ. ทุกเดือน
จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังนี้
1. เมื่อ กฟฝ. ได้ตรวจสอบและอนุมัติระบบส่งไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากกรรมสิทธิ์ของระบบ
ทั้งหมดเป็นของ กฟฝ. จึงไม่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่
ออกใบกำกับภาษีให้แก่ กฟฝ.
2. ภาษีซื้อของค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้าง บริษัทฯ สามารถนำไปเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้
ทั้งจำนวน
3. การลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของโครงการ จะถือ
เป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการโอนระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ตามข้อเท็จจริง เนื่องจากระบบดังกล่าว บริษัทฯ เป็น
ผู้ดำเนินการและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น กรณีจึงถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ประกอบกับสายส่งไฟฟ้า
และเสาไฟฟ้าแรงสูงจะมีลักษณะเป็นเสาโครงเหล็ก ซึ่งสามารถถอดประกอบได้ มีฐานเป็นเสาสี่เสา
ประกอบต่อจากเสาคอนกรีตที่ฝังอยู่ในพื้นดินแล้วเทคอนกรีตทับข้างบน เข้าลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์ ตาม
มาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเข้าลักษณะเป็นสินค้า ตามมาตรา 77/1 (9)
แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น การโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ กฟฝ. จึงถือเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1
(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อมีการส่งมอบและตรวจรับ
ระบบส่งไฟฟ้าใหม่จาก กฟฝ. ตามสัญญา รวมทั้งมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้
กฟฝ. ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีภาษีซื้อค่าอุปกรณ์ และค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระ
ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ในการก่อสร้างระบบดังกล่าว ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่
เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการ ไม่ต้องห้าม ตาม
มาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษี ตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ตามข้อเท็จจริงการที่บริษัทฯ ได้
ก่อสร้างและได้โอนหรือส่งมอบระบบส่งไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว ให้แก่การไฟฟ้าภายหลังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าว
จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงถือเป็น
รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการได้
เลขตู้: 61/27247

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020