เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/15745
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการชำระเงินค่าปรึกษาทางเทคนิคไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา70, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ได้สั่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิต โดยในสัญญาซื้อขายได้ระบุ
เงื่อนไขครอบคลุมถึงการบริการให้คำปรึกษาระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรจนถึงการเดินเครื่อง โดยทาง
ผู้ขายจะส่งวิศวกรมาดูแลให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อ ในเรื่องงานติดตั้งจนกว่างานติดตั้ง
เครื่องจักรจะแล้วเสร็จและผู้ขายจะส่งใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก
และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของวิศวกรดังกล่าวระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน BEF
2,526,829 (เบลเยี่ยมฟรังค์) เมื่อบริษัทฯ โอนเงินค่าวิศวกรที่ปรึกษาชาวเบลเยี่ยมให้แก่ผู้ขาย จึงได้
หักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 15 โดยตีความเป็นค่าสิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-เบลเยี่ยม ข้อ 12 วรรค
2 (ข) เป็นจำนวนเงิน BEF 341,223.15 หรือ 281,850.32 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้นคือ
0.826 บาทต่อเบลเยี่ยมฟรังค์
ต่อมาทางผู้ขายได้ส่งหนังสือโต้แย้งการหักภาษีจำนวนดังกล่าว โดยแย้งว่า ค่าวิศวกร
ที่ปรึกษาที่เรียกเก็บมานั้นควรตีความเป็นกำไรของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญา ซึ่งจะเก็บภาษีได้เฉพาะใน
รัฐนั้น ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-เบลเยี่ยม บริษัทฯ จึงไม่มี
หน้าที่หักภาษีจากเงินค่าวิศวกรดังกล่าว และได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทฯ เป็นผู้ขอคืนภาษีหัก ณ
ที่จ่ายจำนวนดังกล่าวคืนจากกรมสรรพากร
บริษัทฯ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ จึงขอทราบว่าเงินค่าวิศวกรดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น
เงินได้ประเภทใดตามอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-เบลเยี่ยม และที่บริษัทฯ หักและนำส่งภาษีไว้ในอัตราร้อยละ
15 เมื่อโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อชำระหนี้นั้น ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท เอ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตาม
กฎหมายของประเทศเบลเยี่ยมไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ
ในการติดตั้งเครื่องจักรในประเทศไทยและเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวจากบริษัทฯ โดยจะต้องเก็บรักษา
ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับเงินได้ค่าที่ปรึกษาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับ
ประสบการณ์ทางอุตสาหกรรมพาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ จึงถือเป็นค่าสิทธิ ตามข้อ 12 วรรค 2
(ข) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับเบลเยี่ยมเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่
เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
ดังนั้น เมื่อบริษัท ก. จำกัด จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไปให้กับบริษัท เอ ซึ่งเป็นบริษัทที่
จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเบลเยี่ยม มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ จึงมี
หน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12
แห่งความตกลงฯ และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
2. บริษัท เอ จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้แต่อย่างใด
เลขตู้: 61/27258

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020