เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/15746
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา91/2 (6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2533 ต่อมาเมื่อวันที่ 11
มกราคม 2537 นาย ก. ถึงแก่ความตาย โดยได้ทำพินัยกรรม แต่งตั้งให้ นาง ข. เป็นผู้จัดการมรดก
และมีข้อกำหนดพินัยกรรมกำหนดให้ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ และหากมีเงิน
เหลือให้มอบให้แก่ทายาทและเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 นาง ข. ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ขาย
อสังหาริมทรัพย์ไปตามข้อกำหนดพินัยกรรม จึงขอทราบว่า
1. อสังหาริมทรัพย์ของผู้ที่ถึงแก่ความตาย เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก และ
การนับวันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ควรนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดก (นาย ก.) ได้มา จนถึงวันที่ขาย ซึ่งเกิน
5 ปี และจากเหตุผลดังกล่าวเป็นผลให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
2. หากพินัยกรรมมิได้ระบุให้จัดการขายอสังหาริมทรัพย์ไว้ จะมีผลแตกต่างกันหรือไม่
อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของผู้ตาย ย่อมเป็นกองมรดก ตามมาตรา 1600
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ผู้จัดการมรดก
จัดการขาย อสังหาริมทรัพย์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ และหากมีเงินเหลือให้มอบให้แก่ทายาท
อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินของกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกต้องนำออกขายตามข้อกำหนดใน
พินัยกรรม จึงไม่ตกทอดไปยังทายาท และไม่เข้าลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ตาม
มาตรา 3 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
เนื่องจากกองมรดกเป็นหน่วยภาษีที่แยกต่างหากจากบุคคลที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา
77/1 (2) และมาตรา 91/1 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์สิน
ทุกชนิดของผู้ตายถือเป็นกองมรดก ตามมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่
นาย ก. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 ทรัพย์สินของนาย ก. จึงเป็นกองมรดก
และเมื่อผู้จัดการมรดกได้จัดการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกองมรดก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม
2538 จึงถือได้ว่ากองมรดกได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กองมรดกได้มาซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 กองมรดกจึง
อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. หากพินัยกรรมมิได้มีข้อกำหนดให้ขายอสังหาริมทรัพย์ และได้มีการโอนอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรม และทายาทได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปในสภาพเดิม กรณี
ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไร ทายาทผู้รับพินัยกรรมจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2
(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (6) (ข)แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
เลขตู้: 61/27259

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020