เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.16051 |
วันที่ | : 20 พฤศจิกายน 2541 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 9, มาตรา 65 ทวิ (5), ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.71/2541 ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ประกอบกิจการการขายบริการ และมีบัญชีเงินฝากธนาคารเฉพาะเงินบาทเท่านั้น (ไม่มีบัญชีเงินสกุลอื่น) บริษัทฯ มีธุรกรรมบางประการที่ต้องเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้เป็น แนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงขอทราบดังนี้ 1. ในบางคราวบริษัทฯ จำเป็นต้องใช้บริการจากต่างประเทศและจะได้รับอินวอยส์เป็น สกุลเงินต่างประเทศ เวลาบันทึกบัญชี โดยเดบิตค่าใช้จ่ายและเครดิตเจ้าหนี้ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 9 หรือไม่ บริษัทฯ ไม่มีบัญชีธนาคารเป็นสกุลเงินต่างประเทศเวลาชำระหนี้ บริษัทฯ จะทำการ โอนเงินผ่านธนาคารที่บริษัทฯ มีบัญชีอยู่โดยธนาคารจะเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและหักจาก บัญชีเงินฝากของบริษัทฯเลย กรณีนี้เวลาที่บริษัทฯ ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 และภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.54 จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนจริงตามธนาคารได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องใช้มาตรา 9 ในการคำนวญฐานภาษีใหม่ 2. ลูกค้าบางรายทำสัญญาค่าบริการกับบริษัทฯ เป็นสกุลเงิน US$ โดยระบุว่าจะต้องชำระ เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตาม TT selling ของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ณ วันชำระหนี้ 2.1 กรณีที่บริษัทฯ ออกอินวอยส์จะต้องออกเป็นสกุลเงิน US$ จะต้องใช้ อัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 9 หรือไม่ ในการเดบิตลูกหนี้ และเครดิตรายได้ 2.2 เมื่อมีการรับชำระหนี้ทางลูกค้าจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทฯ เลย ตามที่ระบุไว้ในสัญญา บริษัทฯ สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามจริงของธนาคารเป็นตัวคำนวณฐานภาษีใน การออกใบกำกับภาษีขายและภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องใช้มาตรา 9 ในการคำนวณ ฐานภาษีใหม่ 3. บริษัทฯ ได้ให้บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในต่างประเทศกู้เงินไปจำนวนหนึ่งเป็นสกุลเงิน US$ โดยบริษัทฯ จะจัดส่งอินวอยส์ค่าดอกเบี้ยให้เป็นประจำทุกเดือน ในกรณีนี้ตอนเดบิตลูกหนี้ และ เครดิตรายได้ค่าดอกเบี้ยจะต้องใช้มาตรา 9 หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. ในการบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีที่ รับรองทั่วไป กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย เพื่อปฏิบัติตาม ประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด 2. กรณีตาม 1. บริษัทฯ มีการชำระค่าบริการเป็นเงินตราต่างประเทศ ในระหว่างรอบ ระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่ชำระหนี้นั้น ตาม มาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 และในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.54 ให้บริษัทฯ คำนวณภาษีที่ต้องนำส่งโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิง (อัตราขายถัวเฉลี่ย) ประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนใน การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ตาม ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 3. กรณีตาม 2. บริษัทฯ คิดค่าบริการกับลูกค้าโดยตกลงราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทฯต้องแสดงมูลค่าของค่าบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยเงินตราไทยในใบกำกับภาษี โดย ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราอ้างอิงประจำวัน (อัตราซื้อ ถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.71/2541 ฯ ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ดังนี้(1) กรณีได้ รับชำระเป็นเช็คหรือตั๋วแลกเงิน ให้ใช้อัตราซื้อถัวเฉลี่ยทางตั๋วเงิน(2) กรณีได้รับชำระโดยวิธีโอนเงิน ผ่านธนาคาร ให้ใช้อัตราซื้อถัวเฉลี่ยทางโทรเลข 4. กรณีตาม 3. ในการลงบัญชีลูกหนี้และรายได้ค่าดอกเบี้ยที่เป็นเงินตราต่างประเทศ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย เพื่อปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร แต่ อย่างใด แต่ถ้า (1) กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศในระหว่างรอบ ระยะเวลาบัญชีบริษัทต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาด ในวันที่ได้รับชำระดอกเบี้ย นั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีบริษัทฯ มีดอกเบี้ยค้างรับซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ ต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ย ที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณไว้ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 61/27279 |