เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.17063 |
วันที่ | : 17 ธันวาคม 2541 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีดอกเบี้ยจากการผิดนัด |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1 |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาคือ บริษัท ก. จำกัด บริษัท ข. จำกัด บริษัท ค. จำกัด และกิจการร่วมค้า ง. เพื่อดำเนินการติดตั้งโครงข่ายสายโทรศัพท์ โดยในสัญญานอกจากจะระบุ เงื่อนไขการชำระเงินค่าจ้างหลังจากผู้รับเหมาติดตั้งโครงข่ายแล้วเสร็จไว้แล้ว ยังระบุให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ เลือกชำระเงินภายใน 14 วัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือยืดระยะเวลาการชำระเงินค่าจ้างออกไป 390 วัน โดยในระยะเวลา 390 วัน บริษัทฯ ต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจ้างเป็นประจำ ทุกเดือนตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (MINIMUM OVERDRAFT RATE MOR-1) ของ ธนาคาร และเมื่อครบกำหนดการชำระเงินตามสัญญารับจ้างบริษัทฯ จะต้องชำระเงินต้น (ค่าจ้าง) ตาม จำนวนที่เรียกเก็บ บริษัทฯ ขอทราบว่า เมื่อบริษัทฯ ชำระดอกเบี้ยให้แก่บริษัท (ผู้รับเหมา) ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้ชำระตามสัญญา บริษัท (ผู้รับเหมา) จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ซึ่ง กรมสรรพากรได้มีหนังสือ แจ้งว่า ดอกเบี้ยที่บริษัท (ผู้ว่าจ้าง) ได้ชำระให้แก่บริษัท (ผู้รับเหมา)กรณี เลือกชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ยืดออกไป 390 วัน ตามสัญญาว่าจ้างที่มีข้อตกลงการชำระค่าบริการไว้ ล่วงหน้าถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาค่าบริการที่บริษัท (ผู้รับเหมา) ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของ ฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอทราบเพิ่มเติมว่า เมื่อครบกำหนด 390 วัน หลังจากเสร็จงานดังกล่าว แล้วบริษัทฯ ยังไม่จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมาแต่ได้ตกลงจะจ่ายดอกเบี้ยตามอัตรา MOR + 1 คิดหลังจากที่ ครบกำหนด 390 วันดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จ บริษัทฯ จึงขอทราบว่าดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องนำ มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ผู้รับเหมาเนื่องจากการที่บริษัทฯ ผิดนัดไม่ชำระเงินให้ ผู้รับเหมาไม่ถือเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8) และ 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 61/27347 |