เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่  137)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

 

-------------------------------

 

                    อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(69) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ดังต่อไปนี้

 

               ข้อ 1 ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์

 

                   ข้อ 2 ชื่อบัญชีเงินฝากต้องเป็นชื่อของผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยนั้น แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

 

                   ข้อ  3 กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 1 รวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วมีจำนวนทั้งสิ้นเกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น ให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งจำนวน และนำส่งตามมาตรา 50(2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                   ข้อ  4 ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 1 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ดังนี้

                         (1) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันหรือแยกกัน และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี

                         (2) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกัน และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

                         (3) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินแยกกัน และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของแต่ละบุคคล

 

                  ข้อ  5 ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 1 ต้องแจ้งข้อมูลของผู้มีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้ ต่อธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากก่อนหรือในขณะรับดอกเบี้ย เงินฝากดังกล่าว และให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบต่อไป

                          ในกรณีผู้มีเงินได้ได้แจ้งข้อมูลของผู้มีเงินได้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องแจ้งข้อมูลของผู้มีเงินได้อีก

 

                   ข้อ 6 ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 1 ต้องส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินที่แจ้งต่อธนาคารตามข้อ 5 และข้อมูลการฝากเงินของผู้ฝากเงินต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยให้ส่งเป็นสื่อบันทึกข้อมูลของ ผู้ฝากเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ย เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า

ห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้

                         การส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินตามวรรคหนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ส่งภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป


(ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 309) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

 

                   ข้อ  7 ในกรณีมีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                   ข้อ  8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548  เป็นต้นไป

      

ประกาศ ณ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548

 

ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

(นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)

อธิบดีกรมสรรพากร

 

หนังสือแจ้งการขอใข้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ >>

 

แบบ ด.บ.11 >>

 

แบบ ด.บ.12 >>

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022