เลขที่หนังสือ | : กค 0811/00137 |
วันที่ | : 7 มกราคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 4 ทศ, กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องตามแบบ ค.10 ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 - 2539 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 67,071,065.82 บาท กรณีถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรไว้เกินไป สำนักตรวจสอบภาษี ได้ทำการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทฯ และแจ้งผลการตรวจสอบให้ ทราบว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 - 2539 บริษัทฯ มีภาษีที่ได้รับคืนเป็นเงินทั้งสิ้น 65,589,289.79 บาทโดยบริษัทฯ ไม่ขอสละสิทธิ์ดอกเบี้ยที่จะได้รับตามมาตรา 4 ทศ แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงหารือว่า การคำนวณดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในกรณีของบริษัทฯ จะถือว่า เป็นกรณีคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสาม เดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามข้อ 1 (1) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)ฯ หรือเป็นกรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ย ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามข้อ 1 (2) แห่ง กฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว |
แนววินิจฉัย | : กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ไว้เกิน และเมื่อ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วปรากฏว่า บริษัทฯ มีภาษีที่ได้รับคืน การคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทฯ จึงต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคำนวณดอกเบี้ยกรณีคืนเงิน ภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 1 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 และเนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ไปถือเป็นเครดิตใน การคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ตามแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) เมื่อบริษัทฯ ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ไว้เกิน การคืนเงินภาษีอากรให้บริษัทฯ จึงเข้าลักษณะ เป็นการคืนเงินภาษีอากร ให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากร ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยให้แก่บริษัทฯ จึงต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบ กำหนดระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามข้อ 1 (1) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526)ฯ |
เลขตู้ | : 62/27394 |