เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/00140
วันที่: 7 มกราคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานต่างปีภาษีกัน และการคำนวณจำนวนปีที่ทำงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2535ฯ
ข้อหารือ: นาย ก. เคยทำงานอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ข. จำกัด (1 ใน 56 ไฟแนนซ์ ซึ่งได้
ถูกปิดกิจการเป็นการถาวร) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 และออกจากการเป็นพนักงานประจำตั้งแต่
วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นจำนวน 4 ปี 319 วัน โดยได้รับเงินชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
ในเดือนธันวาคม 2540 และเงินกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในเดือนมกราคม
2541 ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 นาย ก. ได้นับระยะเวลา
การทำงานเป็น 5 ปี เนื่องจากเศษของปีเกิน 183 วัน และได้แยกคำนวณเงินได้จากเงินชดเชยฯ โดย
ไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ จึงขอทราบว่า
1. เงินชดเชยเลิกจ้างที่ได้รับในเดือนธันวาคม 2540 จะแยกคำนวณภาษีต่างหากจาก
เงินได้ประเภทอื่น สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการประจำปี 2540 ได้หรือไม่
2. เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในเดือนมกราคม 2541 จะต้องนำไปรวม
คำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: เงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานและเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ นาย ก. ได้รับเมื่อบริษัทฯ ถูกปิดกิจการ ซึ่งมีระยะเวลาทำงานอยู่ที่บริษัทฯ
เป็นเวลา 4 ปี 319 วัน ไม่ครบ 5 ปี ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 (ก) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
นาย ก. จึงไม่มีสิทธิเลือกคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ
ออกจากงานตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น นาย ก. ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวม
คำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการคำนวณจำนวนปีที่ทำงานกรณีเศษของปีเกินกว่า 183 วัน ซึ่งให้นับเป็น 1 ปี
นั้น เป็นกรณีที่จะใช้ในการนับจำนวนปีเพื่อการคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48 (5) วรรคหนึ่ง แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27397

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020