เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/00218
วันที่: 12 มกราคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงานและซื้อเครื่องจักร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (2), มาตรา 65 ทวิ (5), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ข้อหารือ: ในปี 2540 บริษัทฯ ได้เริ่มโครงการขยายกำลังการผลิตด้วยการก่อสร้างโรงงาน ซื้อ
เครื่องจักรจากต่างประเทศ และว่าจ้างบริษัทต่างประเทศแนะนำการติดตั้งเครื่องจักร แต่เนื่องจากใน
เดือนกรกฎาคม 2540 ประเทศไทยมีการปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของ
ประเทศตกต่ำ และบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ต้องชะลอโครงการก่อสร้างไว้
ชั่วคราว บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับค่าอาคารโรงงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและค่า
เครื่องจักรที่ยังรอการติดตั้งที่บริษัทฯ ต้องจ่ายในช่วงเวลาหยุดโครงการขยายกำลังการผลิต บริษัทฯ
มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ตามมาตรฐาน
การบัญชี ฉบับที่ 15 ของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เรื่อง การปฏิบัติในการ
ตั้งต้นทุนการกู้ยืมเป็นราคาทุนของทรัพย์สิน และต่อเมื่อโครงการขยายกำลังการผลิตได้ดำเนินต่อไป
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่โครงการขยายได้ดำเนินต่อไปจนถึงวันที่โรงงานเสร็จพร้อมทำ
การผลิตสินค้าได้ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สิน ความเห็นของบริษัทฯ ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นอาจแยกพิจารณาได้ ดังนี้
1. กรณีค่าดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการก่อสร้างอาคารโรงงานที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปในระหว่าง
ชะลอโครงการก่อสร้างหรือในระหว่างการก่อสร้างอาคารโรงงานจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรือ
อาคารใช้การได้ตามสภาพให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวมคำนวณเป็น
มูลค่าอาคารโรงงาน เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารนั้นใช้การได้ตาม
สภาพ ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้
2. กรณีค่าดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปในระหว่างรอการติดตั้ง
เครื่องจักรในช่วงหยุดโครงการหรือที่ได้จ่ายไปในระหว่างที่ได้ซื้อเครื่องจักรจนกระทั่งเครื่องจักรนั้นได้
รับการติดตั้งจนสามารถใช้การได้ตามสภาพ ให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65
ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำ
ดอกเบี้ยนั้นไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าของเครื่องจักรเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65
ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากเครื่องจักรใช้การได้ตามสภาพ ให้ถือเป็นรายจ่าย
ในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายได้
เลขตู้: 62/27402

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020