เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.00545 |
วันที่ | : 20 มกราคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/6, มาตรา 91/5(5), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.26/2534 ฯ, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2535 ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทการให้บริการและประกอบกิจการ ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ ขอทราบว่า 1. การพิจารณาว่าผู้ประกอบกิจการใดอยู่ในข่ายต้องเฉลี่ยภาษีซื้อหรือไม่ มีหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขการพิจารณาอย่างไร 2. กรณีบริษัทประกอบกิจการประเภทให้บริการ หากต่อมาบริษัทฯ มีการให้กู้ยืมเงินแก่ พนักงานหรือบุคคลภายนอกเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจทำให้บริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งอาจจะต้อง เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในบางกรณีนั้นถือว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทฯ จะต้องนำมาเป็น ฐานในการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อหรือไม่ อย่างไร 3. กรณีบริษัทฯ มีรายได้ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญาจากผู้ใช้บริการของบริษัทฯ จะต้อง นำค่าปรับมาเป็นฐานในการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อหรือไม่ อย่างไร 4. กรณีที่บริษัทฯ ประกอบกิจการประเภทการให้บริการ บางครั้งบริษัทฯ ต้องส่งเอกสาร ให้กับผู้ใช้บริการของบริษัทฯ โดยการส่งเอกสารดังกล่าว บริษัทฯ จะจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการ อันได้แก่ ค่าซองค่าดวงตราไปรษณียากร และค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวมารวมเป็นมูลค่าของฐานรายได้ เพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535 หรือไม่ อย่างไร 5. กรณีบริษัทฯ นำเงินเหลือใช้ของบริษัทฯ ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เมื่อบริษัทฯ ได้ รับดอกเบี้ยบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.26/2534 เรื่อง ดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น บริษัทฯ จะต้องนำดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมเป็นฐานรายได้ที่จะต้องนำมาคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีฯ ดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร หรือบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าว มารวมเป็นมูลค่าของฐานรายได้ตามข้อ 4 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว |
แนววินิจฉัย | : ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว 1. กรณีตาม 1. การเฉลี่ยภาษีซื้อจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใน ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฉลี่ยภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ (ก) ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหัก ด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และ (ข) ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ (ค) เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการได้นำสินค้าหรือบริการไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสอง ประเภท 2. กรณีรายได้ตาม 2. 3. 4. และ 5. เป็นรายได้ที่บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็น ฐานภาษีในการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากการได้นำสินค้าหรือบริการไปใช้หรือจะใช้ใน กิจการทั้งสองประเภทตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 62/27437 |