เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.00569
วันที่: 21 มกราคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการทำสัญญาดูแลโทรศัพท์สาธารณะประเภทมีผู้ดูแลแบบใช้เหรียญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 78/1, มาตรา 82/3, มาตรา 86,
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ทำสัญญาดูแลโทรศัพท์สาธารณะประเภทมีผู้ดูแลแบบใช้เหรียญกับบริษัท ข. จำกัด
ดังนี้
1. บริษัท ข. จำกัด ได้ทำข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมงานและร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจ
เพื่อให้บริการโทรศัพท์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร โดยบริษัท ข. จำกัด จะเป็นผู้จัดหาและติดตั้ง
เครื่องโทรศัพท์สาธารณะ พร้อมอุปกรณ์ของระบบควบคุมโทรศัพท์สาธารณะ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวทั้งหมด
ไม่ได้โอนให้รัฐวิสาหกิจในการดำเนินการทั้งหมด บริษัท ข. จำกัด จะเป็นผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ให้ใช้งาน
ได้ ส่วนการเก็บเงินค่าบริการบริษัท ข. จำกัด จะเป็นผู้เก็บเงินจากตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้ว จึงนำมา
แบ่งรายได้กับรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสาหกิจ จะยึดรายได้ตามตัวเลขที่ปรากฏในระบบ (Meter) ที่ชุมสาย
บันทึกไว้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งรายได้
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการทำข้อตกลงดังกล่าว กรมสรรพากรได้แจ้งให้แก่บริษัท ข.
จำกัดทราบ แล้วว่า ในกรณีดังกล่าวรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ดังนั้น
รัฐวิสาหกิจจึงเป็นผู้มีหน้าที่นำค่าบริการจากการใช้โทรศัพท์ในกรณีนี้ไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย
ให้ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นเมื่อนำเงินออกจากเครื่อง ตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189
(พ.ศ. 2534) ส่วนบริษัท ข. จำกัด ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะกับผู้ใช้บริการ แต่
เป็นผู้ให้บริการกับรัฐวิสาหกิจ ในการจัดหาติดตั้ง และดูแลรักษาเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ ตลอดจนได้
รับมอบหมายให้นำเงินค่าบริการออกจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ โดยได้รับค่าตอบแทนในลักษณะของส่วนแบ่ง
จากรายได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ข.
จำกัด จึงต้องนำค่าบริการที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ในกรณีนี้ไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
77/2 (1) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัท ข. จำกัด ได้ทำสัญญากับบริษัทฯ ในการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ ณ อาคารของ
บริษัทฯ โดยมีสาระสำคัญของสัญญา คือ
(1) บริษัท ข. จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยาย
บริการโทรศัพท์ให้ดำเนินโครงการโทรศัพท์สาธารณะ มีความประสงค์จะให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ
ประเภทใช้เหรียญแก่ประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และบริษัทฯ เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ
โดยชอบในพื้นที่ที่จะใช้ติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะมีความประสงค์จะให้ความร่วมมือแก่บริษัท ข. จำกัด ใน
การใช้สถานที่รวมทั้งดูแลเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ
(2) บริษัทฯ ตกลงให้บริษัท ข. จำกัด และหรือรัฐวิสาหกิจ ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ
ณ อาคารของบริษัทฯ จำนวน 84 เครื่อง และบริษัท ข. จำกัด ตกลงให้บริษัทฯ ทำการดูแล
เครื่องโทรศัพท์สาธารณะของบริษัท ข. จำกัด
(3) บริษัทฯ ตกลงยินยอมให้บริษัท ข. จำกัด ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อาคารที่ระบุใน
สัญญาเพื่อติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะตลอดอายุของสัญญาโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ นอกเหนือจาก
ค่าตอบแทนตามข้อ 7(3)
(4) บริษัทฯ ตกลงเป็นผู้ดูแลรักษาความสะอาดตู้โทรศัพท์และเครื่องโทรศัพท์ของบริษัท
ข.จำกัด มิให้เกิดความเสียหาย และจะระมัดระวังสอดส่องดูแลมิให้บุคคลใด ทำให้สูญหายหรือเสียหาย
หรือทำลายตู้โทรศัพท์และเครื่องโทรศัพท์ของบริษัท ข. จำกัด ตลอดอายุของสัญญานี้
บริษัทฯ ตกลงรับผิดชอบในความสูญหาย หรือเสียหาย หรือความชำรุดบกพร่อง ที่เกิดขึ้นแก่
ตู้โทรศัพท์ หรือเครื่องโทรศัพท์ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ที่เกิดจากการกระทำของบริษัทฯ พนักงาน
ลูกจ้าง ตัวแทน บริวาร หรือบุคคลใดที่อยู่ภายใต้การสั่งการของบริษัทฯ
(5) บริษัทฯ ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบทำการไขเหรียญเก็บรวบรวมเงินค่าใช้โทรศัพท์
สาธารณะ รักษาความสะอาด และรักษาความปลอดภัยแก่โทรศัพท์สาธารณะและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดย
บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ข. จำกัด ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรือสูญหาย
เว้นแต่การเสื่อมตามสภาพหรือความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากการกระทำของ
บุคคลภายนอก บริษัท ข. จำกัด จะยกเว้นการเก็บค่าเสียหาย
(6) บริษัทฯ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท ข. จำกัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เข้า
ออกปฏิบัติงานได้ในระหว่างเวลาที่บริษัทฯ เปิดอาคารให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้บริษัท ข. จำกัด
หรือรัฐวิสาหกิจ ตรวจสอบ ดูแล ซ่อมบำรุงโทรศัพท์สาธารณะหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแจ้งให้
บริษัทฯ ทราบล่วงหน้า
(7) การเก็บรวบรวมเงินค่าใช้โทรศัพท์และการให้ค่าตอบแทน
(ก) บริษัทฯ ตกลงรับผิดชอบเป็นผู้เก็บรวบรวมเงินใช้ค่าโทรศัพท์สาธารณะ
ทั้งหมดจากผู้ใช้บริการและจะทำรายงานจำนวนเงินที่เก็บได้ทั้งหมดจากเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่อยู่ใน
ความดูแลเป็นประจำทุกเดือน และต้องส่งรายงานให้บริษัท ข. จำกัด ภายใน 7 วันทำการของบริษัทฯ
หลังจากวันสุดท้ายของแต่ละเดือน
(ข) บริษัท ข. จำกัด จะส่งใบแจ้งการนำส่งเงินมายังบริษัทฯ ทุก ๆ วันที่ 10
ของเดือน บริษัทฯ ต้องชำระเงินให้บริษัท ข. จำกัด ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในใบแจ้งการนำส่งเงินของ
บริษัท ข.จำกัด ซึ่งบริษัท ข. จำกัด จะใช้วิธีการเรียกเก็บแบบ Metering โดยไม่คำนึงถึงจำนวนเงิน
ที่ผู้ให้สัญญาเก็บได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะแต่ละเครื่อง
(ค) บริษัท ข. จำกัด ตกลงให้ค่าตอบแทนตามสัญญานี้แก่บริษัทฯ ในอัตราร้อยละ
10 ตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งการนำส่งเงินของบริษัท ข. จำกัด โดยชำระให้ในแต่ละเดือน โดยใน
ใบแจ้งการนำส่งเงินของบริษัท ข.จำกัด จะระบุจำนวนเงินค่าใช้โทรศัพท์สาธารณะในประเทศแต่ละ
เดือน และค่าตอบแทนร้อยละ 10 ทั้งนี้ บริษัท ข. จำกัด จะรับผิดชอบภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) สำหรับ
ส่วนที่จะต้องชำระให้แก่บริษัทฯ
จึงหารือว่า บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไรในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อบริษัทฯ เก็บรวบรวมเงินค่าใช้โทรศัพท์ออกจากตู้โทรศัพท์ ณ วันใดวันหนึ่ง บริษัท
ฯ ผู้ดูแลเครื่องโทรศัพท์ หรือบริษัท ข. จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ จะเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากค่าใช้โทรศัพท์ และหากเสียจะเสียจากฐานภาษีใด และออกใบกำกับภาษีหรือไม่และให้กับใคร
(2) เมื่อบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัท ข. จำกัด ในอัตราร้อยละ 10 บริษัทฯ จะ
ต้องออกใบกำกับภาษี ณ วันที่รับเงินหรือไม่ จากฐานภาษีใด
(3) ค่าตอบแทนที่บริษัท ข. จำกัด จ่ายให้แก่บริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 10 ต้องหักภาษี ณ
ที่จ่าย หรือไม่ และเมื่อบริษัท ข. จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบออกภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จะต้องหักนั้น ภาษีที่ออก
ให้นั้น จะถือเป็นฐานภาษีในการออกใบกำกับภาษีและคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าว บริษัท ข. จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ ตามสัญญาร่วมงานและ
ร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์สาธารณะ โดยบริษัท ข. จำกัด จะเป็นผู้จัดหา และติดตั้งโทรศัพท์
สาธารณะ ตลอดจนเป็นผู้ดูแลรักษาให้ใช้การได้ และบริษัท ข. จำกัด ได้ทำสัญญากับบริษัทฯ เพื่อติดตั้ง
โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ ณ อาคารของบริษัทฯ และตกลงให้บริษัทฯ ทำการดูแล
เครื่องโทรศัพท์สาธารณะของบริษัท ข.จำกัด ดังนั้น ภาระภาษีจึงมีดังนี้
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) รัฐวิสาหกิจ และบริษัท ข. จำกัด มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้แจ้งให้
ทราบไปแล้ว ตามข้อเท็จจริงข้างต้น
(2) บริษัทฯ ซึ่งได้ให้บริษัท ข. จำกัด ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ ณ อาคารของบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบทำการไขเหรียญเก็บรวบรวมเงินค่าใช้โทรศัพท์สาธารณะ รักษา
ความสะอาด และรักษาความปลอดภัยแก่โทรศัพท์สาธารณะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้รับ
ค่าตอบแทนร้อยละ 10 ตามจำนวนเงินที่บริษัท ข. จำกัด เรียกเก็บ กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ
ได้ให้บริการแก่บริษัท ข. จำกัดตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษี ได้แก่ จำนวนเงินค่าตอบแทนจาก
การให้บริการที่บริษัทฯ ได้รับตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษี
ให้แก่บริษัท ข. จำกัด ณ วันที่ได้รับชำระค่าบริการซึ่งเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้นตามมาตรา 86 และมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) กรณีตามสัญญาบริษัท ข. จำกัด จะเรียกเก็บเงินแบบ Metering โดยไม่คำนึง
ถึงเงินที่บริษัทฯ รวบรวมได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะแต่ละตู้ ดังนั้น เงินค่าใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะผู้
ใช้โทรศัพท์ที่บริษัทฯ เก็บรวบรวมได้ในส่วนที่เกินจากที่บริษัท ข. จำกัด คำนวณเรียกเก็บเงินแบบ
Metering จึงถือเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับ อันเนื่องมาจากการให้บริการด้วยตามมาตรา 79 แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับเงินค่าตอบแทนตาม
(2) และนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง
ประมวลรัษฎากรด้วย
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
การที่บริษัท ข. จำกัด ได้ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะประเภทมีผู้ดูแลแบบใช้เหรียญ ณ
อาคารของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบเก็บรวบรวมเงินค่าใช้โทรศัพท์สาธารณะ รักษา
ความสะอาด และรักษาความปลอดภัยแก่โทรศัพท์สาธารณะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัท ข. จำกัด
โดยจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อการดังกล่าวนั้น จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ตกลงรับทำงานให้แก่บริษัท ข. จำกัด
เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนตามผลสำเร็จของงาน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จึงอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา
ร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.
2528
กรณีที่บริษัท ข. จำกัด ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ออกภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย
แทนบริษัทฯ ภาษีที่ออกแทนให้ดังกล่าวย่อมถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องนำมารวมคำนวณในการออกใบกำกับภาษีและนำมารวมคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับค่าตอบแทนตามข้อ 1 (2) ด้วย
เลขตู้: 62/27443

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020