เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1089
วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมขายบ้านและที่ดิน โดยมีชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี เพียงคนเดียว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาง ก. ได้ร่วมกับน้องชาย ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2538 ต่อมา
ภาวะเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ทำให้ นาง ก. มีรายได้น้อยลง น้องชายก็ถูกให้ออกจากงาน (Lay off)
จึงไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารได้ ธนาคารได้มีหนังสือบอกกล่าวจะบังคับจำนองและฟ้องศาล ดังนั้น
นาง ก. และน้องชาย จึงตัดสินใจขายที่อยู่อาศัยเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ธนาคารเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม
2540 นาง ก. จึงขอทราบว่า กรณีการขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อเท็จจริง นาง ก. และน้องชาย ได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดิน โดยมิได้มีการแบ่ง
หรือกำหนดส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ว่าของใคร ตอนใด เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดให้ชัดเจน กรณีจึงถือว่า
เป็นเจ้าของรวมกัน และมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2. การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา เข้าลักษณะเป็น
การขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้
ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 เนื่องจาก นาง ก และน้องชาย
ได้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวพร้อมกัน กรณีจึงเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ
คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ
คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล การที่น้องชายของ นาง ก. มีชื่อในทะเบียนบ้านเพียงคนเดียว ถือเป็นเหตุ
ส่วนตัวของบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ไม่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ
คณะบุคคลนั้นได้
เลขตู้: 62/27496

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020