เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.1499
วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกใบกำกับภาษีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 78/1, มาตรา 83, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ แจ้งว่า ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง รับเหมางานระบบต่าง ๆ เช่น เดิน
ระบบไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกให้ชำระค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมา
โดยข้อพิพาทดังกล่าวประกอบด้วยคู่กรณี 3 ฝ่าย คือ
ผู้เสนอข้อพิพาท คือ บริษัท ก. จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วง
คู่กรณีที่ 1 คือ บริษัทฯ เป็นผู้รับเหมาหลัก และ
คู่กรณีที่ 2 คือ บริษัท ข. จำกัด เป็นเจ้าของงาน โดยบริษัทฯ กับ บริษัท ข. จำกัด ได้
ทำสัญญาจ้างเหมากันเป็นสัญญาหลัก และบริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างช่วงต่อกับบริษัท ก. จำกัด
ข้อพิพาทเกิดขึ้นเมื่อ บริษัท ข. จำกัด เจ้าของงานไม่ชำระราคาค่าก่อสร้างให้กับบริษัทฯ
ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถชำระหนี้ค่างานให้แก่บริษัท ก. จำกัด ผู้รับเหมาช่วง คู่กรณีทั้ง 3 ฝ่าย จึงยื่น
เรื่องเพื่อเรียกร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการเพื่อทำการวินิจฉัยชี้ขาด จนในที่สุดได้มีการ
ประนีประนอม และอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยชี้ขาดให้บริษัท ข. จำกัด เจ้าของ
งาน ชำระราคาค่าก่อสร้างที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 26.5 ล้านบาท แก่บริษัทฯ และบริษัท ก. จำกัด
ผู้รับเหมาช่วงรวมกัน
บริษัทฯ ขอทราบเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มของการจ่าย
เงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนี้
1. ในการชำระเงินตามคำชี้ขาดดังกล่าว ผู้รับเงินยังคงต้องเรียกเก็บเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
และออกใบกำกับภาษี รวมถึงการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. ผู้ชำระเงินยังคงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามปกติ รวมทั้งต้องนำส่งเงินภาษีที่หักไว้โดย
มิได้มีการจ่ายเงินจริงต่อกันหรือไม่ เนื่องจากมีการหักเงินที่ต้องจ่ายดังกล่าวเป็นการชำระคืนเงินกู้แก่
นางสาว ต.กรรมการของบริษัท ข. จำกัด เจ้าของงาน
3. บริษัทฯ เข้าใจว่าในการชำระเงินตามสัญญาซึ่งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดนั้น มีการ
ชำระเงินจากบริษัท ข. จำกัด เจ้าของงาน ให้แก่บริษัทฯ และบริษัท ก. จำกัด ผู้รับเหมาช่วงรวมกัน
แต่บริษัท ก. จำกัด มิได้มีนิติสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท ข. จำกัด เจ้าของงาน บริษัท ก. จำกัด
สามารถออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินให้แก่บริษัท ข. จำกัด เจ้าของงานได้โดยตรงหรือไม่ และ
บริษัท ข.จำกัด สามารถหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในการจ่ายเงิน
ให้แก่บริษัท ก. จำกัด ได้หรือไม่
4. กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ค่างาน ซึ่งไม่ได้คำนวณรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในขณะ
ฟ้องร้องจะใช้มูลหนี้เดิมหรือมูลหนี้ใหม่ตามคำพิพากษาในการปฏิบัติเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย: 1. การที่บริษัท ข. จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของงาน ชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ ตาม
คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เงินค่าก่อสร้างดังกล่าว เป็นเงินที่บริษัท ข. จำกัด จ่ายให้
เนื่องจากเป็นค่าจ้างก่อสร้างที่คู่สัญญาตกลงชำระให้ต่อกันเป็นงวด ๆ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ซึ่งถือเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับจากการให้บริการรับจ้างก่อสร้างให้แก่บริษัท ข. จำกัด อันเป็นกิจการที่อยู่
ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่
ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ข. จำกัด เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา
78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83 แห่งประมวลรัษฎากร
2. การที่บริษัท ข. จำกัด เจ้าของงาน ชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ นั้นเนื่องจาก
การรับเหมาก่อสร้างถือเป็นการให้บริการประเภทการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัท ข. จำกัด จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ บริษัท ข.
จำกัด จึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ถึงแม้จะมีการหักเงินที่ต้องจ่ายดังกล่าวเป็น
การชำระคืนเงินกู้แก่นางสาว ต. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ก.จำกัด ผู้เสนอข้อพิพาท ก็เป็นเรื่องของ
ข้อตกลงระหว่างบริษัท ก. จำกัด กับ นางสาว ต. เท่านั้น ซึ่งมิได้ทำให้ความผูกพันตามสัญญาระหว่าง
บริษัทฯ กับบริษัท ข. จำกัด เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
3. การที่บริษัท ข. จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของงาน ชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท ก.
จำกัด ผู้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วง และมิได้เป็นคู่สัญญากับบริษัท ข. จำกัด ตามคำวินิจฉัยชี้ขาด
ของอนุญาโตตุลาการนั้น เนื่องจากบริษัท ก. จำกัด มิได้เป็นคู่สัญญาในการก่อสร้างกับบริษัท ข. จำกัด
โดยตรง บริษัท ก. จำกัด จึงไม่สามารถออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท ข.
จำกัด กรณีจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา นั่นคือ ตามสัญญาก่อสร้างอาคารและงานโยธา
ระหว่างบริษัท ข. จำกัด เจ้าของงานกับบริษัทฯ ผู้รับจ้าง ซึ่งมีความผูกพันกันตามกฎหมายเท่านั้น โดย
ต้องถือว่าบริษัท ข. จำกัด ชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญา บริษัทฯ จึงมีหน้าที่
ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ข. จำกัด เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา
78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัท ข. จำกัด มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อชำระเงิน
ค่าก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26
กันยายน พ.ศ. 2528
สำหรับบริษัท ก. จำกัด ผู้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นผู้รับจ้างช่วงต่อจากบริษัทฯ มีหน้าที่
ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อมีการชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่บริษัท ก.
จำกัด ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
4. กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ค่างานซึ่งไม่ได้คำนวณรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในขณะ
ฟ้องร้องนั้น เนื่องจากมูลหนี้ใหม่ตามคำพิพากษาเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากมูลหนี้เดิม ดังนั้น ถ้า
มูลหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร คู่กรณีซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ยังคงมีหน้าที่เรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27518

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020