เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.1501
วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าตอบแทนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2534 ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการรับจ้างเขียนโปรแกรม
คอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการตกลงทำสัญญาว่าจ้างเป็น
ลายลักษณ์อักษร และเมื่อเขียนโปรแกรมเสร็จก็จะส่งมอบโปรแกรมให้แก่ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็น
บริษัทในต่างประเทศ บริษัทจะจัดส่งโปรแกรมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
(INTERNET) ให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศโดยตรงและเมื่อลูกค้าได้รับมอบงานแล้วจะโอนชำระเงินค่าจ้าง
เข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทในประเทศไทย ซึ่งจะมีเอกสารแจ้งรายการเคลื่อนไหวของบัญชี
(STATEMENT) ที่ธนาคารแจ้งให้ทราบเป็นคราว ๆ จึงขอทราบว่า
1. การประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นการส่งออกบริการที่จะได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15)
ถูกต้องหรือไม่
2. สัญญาว่าจ้างระหว่างบริษัทกับลูกค้าและเอกสารการรับเงินของธนาคาร ถือเป็น
หลักฐานเพียงพอและเป็นที่ยอมรับที่จะแสดงว่าบริษัทส่งออกบริการจริง ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: การให้บริการในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศที่จะเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะต้องเป็นการให้บริการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการใน
ต่างประเทศโดยผู้ให้บริการจะต้องกระทำกิจการอันเป็นสาระสำคัญของการรับจ้างทำของในประเทศไทย
และได้ส่งผลของการให้บริการรับจ้างทำของนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ได้
รับจากการให้บริการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามข้อเท็จจริง ถือเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าว จึงไม่เข้า
ลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่จะได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15)
ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้: 62/27520

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020