เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.1507
วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการผลิตและขายสารผสมล่วงหน้าอาหารสัตว์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 81, มาตรา 82/3, มาตรา 82/5, มาตรา 87, มาตรา 87/3,
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2534 ฯ, (ฉบับที่ 29) และ
(ฉบับที่ 42) พ.ศ. 2535 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้า ทั้งที่ต้องเสียและยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
มีนโยบายที่จะผลิตสินค้าประเภทสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) สำหรับไก่กระทง ไก่ไข่ และเป็ดทุกขนาด
อายุ (ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น) ชื่อ ENFORCE-VITA (เอ็นฟอร์ช-ไวต้า) ซึ่งมีส่วนผสมจากไวตามิน แร่
ธาตุ จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ ผลิตและขายสินค้าดังกล่าวจะเข้าข่ายได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1)(จ) การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน หรือกำจัด
ศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์หรือไม่
2. กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ บริษัทฯ มีสิทธิ
นำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
3. กรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เครื่องมือเครื่องจักร ที่ซื้อมาเฉพาะผลิตสินค้าชนิดนี้
ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นบริษัทฯ มีสิทธินำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
4. กรณีที่บริษัทฯ ผลิตสินค้าที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า บริษัทฯ มีสิทธินำมา
ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งจำนวนหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีวิธีการเฉลี่ยอย่างไร และวิธีการจัดทำ
รายงานภาษีซื้อและการลงรายการในแบบ ภ.พ.30 จะลงรายการอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ผลิตและขาย "สารผสมล่วงหน้า" ซึ่งเป็นสารผสมของวัสดุที่ใช้เลี้ยงสัตว์
ที่มีส่วนผสมจากไวตามินชนิดต่าง ๆ แร่ธาตุชนิดต่าง ๆ และสื่อตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หากผลิตภัณฑ์นั้น
ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารสัตว์ตาม พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ก็เข้าลักษณะเป็น
เคมีภัณฑ์ใช้สำหรับสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาสัตว์ เมื่อขายสินค้าดังกล่าวภายในประเทศจึงได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบและเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตสินค้าตาม ข้อ
2 และข้อ 3 ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตามข้อ 2 (3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
3. การเฉลี่ยภาษีซื้อ การลงรายงานภาษีซื้อและการลงรายการในแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือบริการที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการทั้งที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ประกอบการจะนำภาษีซื้อดังกล่าว มาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดไม่ได้ แต่
ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติ ดังนี้คือ ในกรณีที่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือ
บริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการ
ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ๆ แต่ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือ
บริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใดให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการและ
ให้นำเฉพาะภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจาก
ภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีซื้อส่วนที่
เกิดจากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้
เงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
(2) การทำรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ลง
รายการตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งไม่สามารถนำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5
แห่งประมวลรัษฎากรด้วย โดยให้หมายเหตุว่าเป็นรายการที่ไม่สามารถนำไปหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงผู้ประกอบการจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ สำหรับ
ใบกำกับภาษีทั้งที่สามารถนำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้หมายเหตุจำนวนเงินภาษีที่เป็นรายการที่ไม่มีสิทธิ์นำไปหักในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย โดยรายงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 87 และ
87/3 แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับ ข้อ 4 วรรคสอง แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 22)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
(3) การลงรายการในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ผู้ประกอบการ
มีสิทธินำภาษีซื้อจากยอดซื้อที่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีในแต่ละเดือนซึ่งได้ลงรายงานภาษีซื้อ
ไว้ตาม 3 (2) มาลงรายการในช่องภาษีซื้อเดือนนี้ในข้อ 7 ของแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (
ภ.พ.30)
เลขตู้: 62/27526

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020