เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/01746
วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตั้งเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี, พระราชกำหนด (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ขอทราบถึงปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังมีข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาสรุปได้ดังนี้
1. ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง สินทรัพย์ที่
ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 30 มิถุนายน
2541 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราขั้นต่ำให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่ไม่มี
ราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ดังนี้
ลูกหนี้ที่จัดชั้น อัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ
ลูกหนี้ปกติ 1
ลูกหนี้ที่กล่าวถึงพิเศษ 2
ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 20
ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย 50
ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ 100
บริษัทฯ เข้าใจว่า ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ตั้งเงินสำรองสูงกว่าอัตราร้อยละขั้นต่ำที่
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ธนาคารฯ มีสิทธินำเงินสำรองดังกล่าวทั้งจำนวนไปถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17)พ.ศ.
2540 แต่อย่างใด
2. ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และ
สินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2540 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็น
การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรอง สำหรับสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้และสินทรัพย์ที่
สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้หลายอัตรา โดยมีลักษณะเป็นอัตราที่แน่นอนตายตัว เช่น ร้อยละ
หนึ่งร้อยหรือร้อยละสิบห้า เป็นต้น
บริษัทฯ เข้าใจว่า กรณีที่ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่า
อัตราร้อยละที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ธนาคารฯ ไม่มีสิทธินำเงินดังกล่าวเฉพาะส่วนที่สูงกว่า
อัตราร้อยละที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีดังกล่าว ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17)พ.ศ.
2540
3. บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีที่มีการตั้งเงินสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญลดลง
สำหรับส่วนที่ได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วและในส่วนที่ไม่ได้นำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จะ
มีผลในทางภาษีอากรต่างกันหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า"(ค) เงินสำรองที่
กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญสำหรับหนี้จากการ ให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน
บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือ
กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์แล้วแต่กรณี ทั้งนี้
เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าว ที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน
....."ตามบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากธนาคารฯ ได้กันเงินสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญไว้
ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ก็จะมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งจำนวน
2. ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ตั้งเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สูงกว่าอัตรา
ร้อยละขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 30
มิถุนายน 2541 นั้น ธนาคารฯ มีสิทธินำเงินสำรองดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองของ
รอบระยะเวลาบัญชีก่อน มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวน โดยกรณีไม่ต้องห้ามตาม
มาตรา 65 ตรี (1) (ค)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2540 แต่อย่างใด เนื่องจากธนาคารฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตาม
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์แล้ว
3. ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ตั้งเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สูงกว่าอัตรา
ร้อยละที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29
ธันวาคม 2540 นั้น ธนาคารฯ ไม่มีสิทธินำเงินสำรองส่วนที่สูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกาศกำหนดไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาที่สิ้นสุดในวันที่ 3 1
ธันวาคม 2540 เนื่องจากกรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออก
โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
4. ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ตั้งเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ ลดลง
แยกพิจารณาได้ดังนี้ 4.1 กรณีธนาคารฯ ได้ตั้งเงินสำรองลดลง โดยธนาคารฯ ได้นำเงินสำรอง
ดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไปแล้วนั้น ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องนำเงินสำรอง
ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลงนั้น ตามมาตรา 65 ตรี
(1) (ค)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับ
ที่ 17) พ.ศ. 2540 4.2 กรณีธนาคารฯ ได้ตั้งเงินสำรองลดลง โดยธนาคารฯ ไม่ได้นำเงินสำรอง
ดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ธนาคารฯ ไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินสำรองที่ตั้งลดลง
ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลง ตามมาตรา 65 ตรี
(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับ
ที่ 17) พ.ศ. 2540 แต่อย่างใด
เลขตู้: 62/27565

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020