เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/01766
วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 49 ทวิ
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ขายที่ดินให้การเคหะแห่งชาติ ซึ่งที่ดินดังกล่าว บิดาและมารดาของนาย ก.
ได้ร่วมกันซื้อมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ต่อมาบิดาถึงแก่ความตาย และได้ทำพินัยกรรมยก
ที่ดินในส่วนของบิดาให้นาย ก. และนาง ข. ซึ่งเป็นพี่สาว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ดังนั้น
ที่ดินแปลงนี้จึงเท่ากับมารดาของนาย ก. ถือครองกรรมสิทธิ์ไว้ 2 ส่วน นาย ก. และพี่สาวถือกรรมสิทธิ์
ไว้คนละ 1 ส่วน ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 นาย ก. พี่สาว และมารดา ได้ขายที่ดินใน
ส่วนที่แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ให้แก่การเคหะแห่งชาติไป โดยมารดา และพี่สาว ได้มอบอำนาจให้นาย ก.
เป็นผู้มีอำนาจในการทำสัญญากับการเคหะฯ ที่ดินโฉนดดังกล่าวมีราคาประเมิน 68,960,000 บาท เมื่อ
คิดตามส่วนแห่งกรรมสิทธิ์จึงเท่ากับมารดา มีเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย 34,480,000
บาท ในส่วนของพี่สาวและนาย ก. มีเงินได้คนละ 17,240,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้เจ้าพนักงานที่ดินได้
คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้ดังนี้ ส่วนของมารดาจำนวน 3,622.000 บาท ในส่วนของพี่สาวและ
นาย ก. คนละ 1,174,000 บาท รวมเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ทั้งสิ้น 5,970,000 บาท จึงขอทราบว่า
กรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยวิธีแยกคำนวณตามส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ในกรณีนี้
ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานที่ดินได้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยวิธี
แยกคำนวณตามส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ของแต่ละคนโดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บ
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการ
จดทะเบียนโอนตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในส่วน
ของนาย ก. และนาง ข. ไว้คนละ 1,174,000 บาท และในส่วนมารดา 3,622,000 บาท รวมหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ทั้งสิ้น 5,970,000 บาท นั้น ถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 62/27576

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020