เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/02023
วันที่: 2 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการนับระยะเวลาการทำงานจากการโอนเปลี่ยนนายจ้าง สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27, มาตรา 48, มาตรา 50, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกันของบริษัท ค ประเทศ
เยอรมัน โดยที่บริษัท ข ประกอบธุรกิจบริหารการขายและการตลาดผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ซึ่งผลิตโดยบริษัท ก
ต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างบริษัททั้งสองใหม่ โดยแยกส่วนบริหารการขายและการตลาดเฉพาะผลิตภัณฑ์
เวชภัณฑ์ของบริษัท ข มารวมกับบริษัท ก และได้โอนย้ายพนักงานผู้ทำงานในส่วนดังกล่าวมาอยู่กับบริษัทฯ
ด้วย โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากพนักงาน ทั้งมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ จะนับอายุการทำงานของ
พนักงานต่อเนื่องไปด้วยและบริษัท ข มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานและมิได้จ่ายเงินชดเชยใด ๆ บริษัท
ก จึงขอทราบเกี่ยวกับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ดังนี้
1. พนักงานสองคนได้ทำงานให้กับบริษัท ข คนที่ 1 ทำงานเป็นเวลา 20 ปี พนักงานคนที่
2 ทำงานเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาเมื่อโอนมาทำงานกับบริษัท ก ปรากฏว่าคนที่ 1 ทำงานกับบริษัท ก เป็น
เวลา 2 ปี (รวมทำงาน 22 ปี) และคนที่ 2 ทำงานกับบริษัท ก เป็นเวลา 2 ปี (รวมทำงาน 5 ปี)
พนักงานทั้งสองจึงได้ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง และได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
จากบริษัท ก กรณีนี้พนักงานทั้งสองจะมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
หรือไม่ และบริษัท ก จะต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
2. กรณีตาม 1. บริษัท ก ได้ออกภาษีให้แก่พนักงาน แต่บริษัท ก ได้คำนวณหักภาษี ณ
ที่จ่าย สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 50 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากรไปแล้ว บริษัท ก จะมีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่นำส่งไว้เกินหรือไม่ และมี
เงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างไร
แนววินิจฉัย: หากบริษัท ข
1. ได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปพร้อมกับพนักงานนั้น โดยไม่ได้จ่ายเงินได้
ประเภทเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้กับพนักงานเมื่อได้โอนงานนั้น จึงมีสิทธิ
นับระยะเวลาการทำงานของพนักงานกับบริษัท ก ต่อจากที่ได้ทำไว้กับบริษัท ข ได้ ดังนั้น 1.1 หาก
พนักงานมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ
ออกจากงาน จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินประเภทอื่นตามมาตรา 48 (5)
แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ และบริษัท ก ผู้จ่ายเงินได้จะต้องคำนวณหักภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (5)
ตามมาตรา 50 (1) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ
2 ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24
กันยายน พ.ศ. 2535 1.2 เมื่อบริษัท ก ได้ออกภาษีให้แก่พนักงานผู้มีเงินได้ โดยได้คำนวณและนำส่ง
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ดังกล่าวตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรไปแล้ว หากภาษี
หัก ณ ที่จ่าย ที่นำส่งไปแล้ว มีจำนวนดังนี้
(1) มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่คำนวณตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัท ก มีหน้าที่นำส่งเพิ่มเติมพร้อมเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่คำนวณตามเกณฑ์ในมาตรา 48 (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ถือว่าพนักงานถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินไป พนักงานเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงิน
ภาษีที่ถูกหักไว้เกินนั้น บริษัท ก ไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีดังกล่าวได้ เพราะเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถือเป็น
เงินได้พึงประเมินของพนักงานผู้มีเงินได้ และสิทธิในการขอคืนเงินภาษีเป็นสิทธิเฉพาะตัวของพนักงาน
ผู้มีเงินได้เท่านั้น เว้นแต่พนักงานจะมอบอำนาจให้บริษัท ก เป็นผู้ขอคืนเงินภาษีก็สามารถกระทำได้
2. ไม่ได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปพร้อมกับพนักงานนั้น เพียงแต่ตั้งค้างจ่ายไว้ใน
บัญชี พนักงานไม่สามารถนับอายุการทำงานในบริษัท ข และบริษัท ก ต่อเนื่องกันได้
เลขตู้: 62/27594

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020