เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.02099
วันที่: 4 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้บางส่วนจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่ง
เป็นกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. บริษัทฯ เริ่มประกอบกิจการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 โดยมีรายได้ของกิจการที่ต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อกฎหมาย
ภาษีมูลค่าเพิ่มบังคับใช้ใน ปี พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงได้ถือปฏิบัติตามข้อ 3 (1) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
กล่าวคือ ภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการที่ใช้ร่วมกันของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ และค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ บริษัทฯ จะ
นำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายโดยไม่ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ
3. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ มีรายได้ลดลง เป็นผลให้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.
2539-2541 สัดส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีน้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้
ทั้งสิ้น และบริษัทฯ คาดว่า ในอนาคตกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งอาจมี
รายได้สูงหรือต่ำกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ
4. โดยที่ตามข้อ 3 วรรคท้าย แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวได้ระบุไว้
ว่า "เมื่อได้เลือกปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้วก็ให้ถือปฏิบัติตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดี
กรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้" บริษัทฯ จึงได้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อตามวิธีการใน 2. มา
โดยตลอด จึงขอทราบว่า การที่บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายโดยไม่ทำการเฉลี่ย
ภาษีซื้อ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ประกอบกิจการและมีรายได้ของปีที่ผ่านมาแล้ว หากมี
ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งได้นำไปใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ
ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของ
กิจการประเภทใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 2
(3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม
พ.ศ. 2535 กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการตามส่วนของรายได้ของ
แต่ละกิจการ โดยมีสิทธิเลือกเฉลี่ยภาษีซื้อได้ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีซื้อตามที่ได้เฉลี่ยไว้ โดยไม่ต้องทำ
การปรับปรุงภาษีซื้อในภายหลังอีก
วิธีที่ 2 เฉลี่ยภาษีซื้อ ตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการทั้งสองประเภท
และเมื่อสิ้นปีให้ผู้ประกอบการทำการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปี ของ
กิจการทั้งสองประเภท
2. อย่างไรก็ดี ตามข้อ 3 (1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ดังกล่าว ได้กำหนด
หลักเกณฑ์ที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่จะไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ โดยในกรณี
รายได้ของปีที่ผ่านมา ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ
รายได้ทั้งสิ้นของกิจการ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายได้ โดย
ไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ใน 1. และเมื่อผู้ประกอบการได้เลือกปฏิบัติตามวิธีนี้แล้วก็ต้อง
ถือปฏิบัติตลอดไป จนกว่าส่วน ของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมี
จำนวนน้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ หรือ ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติจากอธิบดี
กรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้
3. กรณีตามข้อเท็จจริงของบริษัทฯ พิจารณาได้ ดังนี้
3.1 การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2535 - 2539 ใน
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2530-2538 บริษัทฯ มีรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ ดังนั้น เมื่อกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลใช้
บังคับในปี พ.ศ. 2535 การเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2535 - 2539
ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษี
มูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ บริษัทฯ จึงมีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวน
ไปหักออกจากภาษีขาย โดยไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (1) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3.2 การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2540 - 2541 เนื่องจากใน
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2539 และรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชี
ที่ผ่านมา ของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2540 และรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2541 ตามลำดับ
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ มีรายได้ลดลงเป็นผลให้รายได้ของกิจการที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการ กรณีตามข้อเท็จจริง จึงไม่เป็น
ไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าว ดังนั้น ใน
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2540 และรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิเลือกนำ
ภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายในแต่ละเดือนภาษีแต่บริษัทฯ จะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อในแต่ละ
เดือนภาษี ตามส่วนของรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาของแต่ละกิจการ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในข้อ 2 (3) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวและสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีต่อ ๆ ไป
หากในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ มีรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการแล้วบริษัทฯ ย่อมมีสิทธิเลือกนำ
ภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายโดยไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 (1) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ฉบับดังกล่าวได้อีก
เลขตู้: 62/27604

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020