เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.02161
วันที่: 8 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายฝากและไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากภายในกำหนดเวลา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/1, มาตรา 91/2
ข้อหารือ: นาย ก ในฐานะตัวแทนของนาง ข ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี
เมื่อปี 2537 ได้จดทะเบียนขายฝากและได้ไถ่ถอนการขายฝากก่อนครบกำหนดเวลา ต่อมาเมื่อวันที่ 4
ธันวาคม 2540 ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่นาย ค (บุตรชาย) จึงขอทราบว่า การทำนิติกรรม
ดังกล่าว ถือเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์ หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงเมื่อปี 2537 หากนาง ข ได้ขายฝากที่ดินและได้ไถ่ถอนการขายฝาก
ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา ถ้าเป็นการไถ่ถอนก่อนวันที่ 10 เมษายน 2541 ไม่ถือว่าการขายฝาก
ดังกล่าวเป็นการขายตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่
ขายฝากคืนเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 491 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และถือว่า
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากไม่เคยตกไปยังผู้รับซื้อฝากเลยตามมาตรา 492 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541 ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจึงเป็นของนาง ข
มาตั้งแต่ต้นไม่เคยตกไปยังผู้ซื้อฝากเลย หากนาง ข เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็น
ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีก่อนการขายฝาก เมื่อได้ทำนิติกรรมยกให้นาย ค ในวันที่ 4 ธันวาคม
2540 จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27611

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020