เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.02289 |
วันที่ | : 11 มีนาคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายบัตรแลกรับบริการล่วงหน้า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เตรส, มาตรา 40, มาตรา 50, มาตรา 65, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 78/1, มาตรา 79, มาตรา 82/3, มาตรา 82/5, มาตรา 86, มาตรา 105, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ |
ข้อหารือ | : 1. บัตรแลกรับบริการ (ValuePlus Package Coupon) ที่ลูกค้าได้ซื้อไปจะมีมูลค่า ประมาณร้อยละ 70 ของราคาค่าบริการในการตรวจเช็คตามระยะในแต่ละครั้ง (ลูกค้าจะได้รับส่วนลด ร้อยละ 30 จากการซื้อบัตรแลกรับบริการ) ดังนั้น หลังจากที่ลูกค้าได้ชำระมูลค่าบัตรแลกรับบริการพร้อม ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต่อมาลูกค้าได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพตามเงื่อนไขในบัตรแลกรับบริการ และนำ บัตรแลกรับบริการมาชำระแทนเงินสด 1.1 บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับสินค้า (Invoice) สำหรับค่าบริการที่เกิดขึ้น จำนวนใด 1.2 บริษัทฯ จะต้องแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี ณ จุดที่เกิด รายรับอีกหรือไม่ อย่างไร 1.3 บริษัทฯ จะต้องออกใบรับให้กับลูกค้าอีกหรือไม่ 1.4 ในการชำระค่าบริการตรวจเช็คตามระยะตามปกติ ถ้าลูกค้าเป็นนิติบุคคลหรือ หน่วยราชการจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการดังกล่าวหรือไม่ และกรณีลูกค้าซื้อบัตรแลกรับ บริการและนำมาใช้ ลูกค้าจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อใด ด้วยฐานรายรับใด 2. กรณีลูกค้าไปรับบริการตรวจเช็คตามระยะที่ศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) และใช้ บัตรแลกรับบริการชำระราคาค่าบริการตรวจเช็คระยะดังกล่าว ศูนย์บริการตัวแทนจะเรียกเก็บค่าบริการ ตรวจเช็คระยะของลูกค้ารายนั้นเต็มตามราคาค่าบริการตามปกติมายังบริษัทฯ 2.1 ใบกำกับสินค้า (Invoice) ที่ศูนย์บริการตัวแทนออก ณ ขณะที่ลูกค้าชำระ ค่าบริการด้วยบัตรแลกรับบริการนั้น จะออกในนามบริษัทฯ หรือในนามลูกค้า และจะต้องแสดงจำนวน ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษีด้วยหรือไม่ 2.2 ในกรณีที่ศูนย์บริการตัวแทนต้องออกใบกำกับสินค้าและใบกำกับภาษีให้บริษัทฯ บริษัทฯสามารถที่จะถือเอาภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว เป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้หรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร 3. กรณีบริษัทฯ นำบัตรแลกรับบริการใช้ในการส่งเสริมการขาย โดยใช้เป็นรางวัลใน การชิงโชคในกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้รับรางวัล โดยคำนวณภาษีจากฐานใด และบริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการที่แจก เป็นรางวัลหรือไม่ และฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเป็นฐานเดียวกับที่ใช้ในการคำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือไม่ 4. กรณีบริษัทฯ ให้บัตรแลกรับบริการเป็นของแจกเพื่อการส่งเสริมการขายหรือนำไป บริจาคให้แก่หน่วยงานราชการ บริษัทฯ จะถือเอามูลค่าของบัตรแลกรับบริการเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ และบริษัทฯ จะมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง 5. กรณีบริษัทฯ ใช้บัตรแลกรับบริการเป็นของแถมไปพร้อมกับการขายรถยนต์ บริษัทฯ จะถือเอาบัตรแลกรับบริการเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ 6. กรณีการขายบัตรแลกรับบริการโดยลดราคา เพื่อส่งเสริมการขายหรือการ ให้บริการของบริษัทฯ ส่วนลดดังกล่าวอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 7. กรณีการขายบัตรแลกรับบริการผ่านผู้จำหน่ายของบริษัทฯ เมื่อผู้จำหน่ายส่งเงินค่า ขายบัตรกลับมายังบริษัทฯ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อลูกค้าผู้ถือบัตรเข้ารับบริการตรวจ เช็คสภาพรถยนต์จากศูนย์บริการของผู้จำหน่ายและชำระราคาค่าบริการด้วยบัตรแลกรับบริการ ผู้จำหน่าย ก็จะเรียกเก็บค่าบริการเต็มราคามายังบริษัทฯ ในกรณีนี้ ผู้จำหน่ายจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. ตามข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.3 การให้บริการในการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ตาม ระยะตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) นั้น เนื่องจากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการ ให้บริการดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่มีการให้บริการจริง กล่าวคือ เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินเพื่อซื้อคูปอง อัน เข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการล่วงหน้า ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการรับชำระค่าบริการล่วงหน้าคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่นแบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้รับชำระราคานั้น บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ได้รับชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และมี หน้าที่ต้องออกใบรับ ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ให้บริการจริงตาม คูปองดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการดังกล่าวอีกแต่อย่างใด 2. ตามข้อ 1.4 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นได้จ่ายเงินได้ที่เป็น ค่าจ้างทำของให้กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหัก ไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินค่าจ้างทำของล่วงหน้าที่ลูกค้าได้จ่ายไปขณะที่ลูกค้าได้ซื้อคูปองนั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ส่วนกรณีผู้จ่ายเงินเป็นรัฐบาลองค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการ ส่วนท้องถิ่นได้จ่ายเงินได้ที่เป็นค่าจ้างทำของให้กับผู้รับซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1 ของเงินค่าจ้างทำของล่วงหน้าที่ได้จ่ายไปในขณะที่ ลูกค้าได้ซื้อคูปองนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 69 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร 3. ตามข้อ 2. และข้อ 7. กรณีลูกค้าได้นำรถยนต์ไปรับบริการที่ศูนย์บริการตัวแทน (Dealer)ที่อยู่ในโครงการบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย เนื่องจากการ ให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างบริษัทฯ กับศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) หรือศูนย์บริการ ของผู้จำหน่าย โดยการให้บริการของศูนย์บริการดังกล่าว จะเป็นไปตามคำสั่งของบริษัทฯ และตาม เงื่อนไขในบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ดังนั้น กรณีที่ลูกค้านำรถยนต์ไปรับบริการที่ศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าศูนย์บริการดังกล่าวจะได้รับชำระราคาค่าบริการจากบริษัทฯ ศูนย์บริการ ดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าในขณะให้บริการ แต่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับ บริษัทฯ เมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการจากบริษัทฯ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 และมาตรา 78/1 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีดังกล่าว ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงิน ที่เป็นค่าจ้างทำของให้กับศูนย์บริการตัวแทน (Dealer) หรือศูนย์บริการของผู้จำหน่าย บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 4. ตามข้อ 3. บัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลใน การชิงโชค บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ในขณะที่ บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชคแต่ประการใด แต่ความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชค ดังกล่าวจะเกิดเมื่อได้ใช้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้ให้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่น แบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้ใช้บริการตามคูปองนั้น และบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้ มอบให้ลูกค้าเพื่อเป็นรางวัลในการชิงโชค บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตาม มูลค่าที่ปรากฏบนบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.31/2534 ฯ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2534 5. ตามข้อ 4. และข้อ 5. กรณีบริษัทฯ แจกบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เพื่อส่งเสริม การขาย หรือนำไปบริจาคให้แก่ส่วนราชการ หรือแถมพร้อมกับการจำหน่ายรถยนต์ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ในขณะที่บริษัทฯ ได้แจกหรือบริจาคหรือ แถมแต่อย่างใด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) ที่บริษัทฯ ได้ แจกหรือบริจาคหรือแถมดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) นั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้ให้บริการตาม คูปองดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยื่น แบบแสดงรายการในเดือนภาษีที่ได้ใช้บริการตามคูปองนั้น และเนื่องจากคูปองที่แจกหรือบริจาคหรือแถม ดังกล่าวมิใช่รางวัลจากการประกวด การแข่งขันหรือการชิงโชค บริษัทฯ ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และรายจ่าย ที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปสำหรับการให้บริการตามบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เพื่อส่งเสริมการขายดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร 6. ตามข้อ 6 กรณีบริษัทฯ ได้ขายบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) โดยลดราคาเพื่อส่งเสริม การขายเนื่องจากการจ่ายเงินเพื่อแลกซื้อบัตรแลกรับบริการ (คูปอง) เป็นการชำระราคาค่าบริการ ล่วงหน้า แม้จะไม่เป็นส่วนลดให้ในขณะให้บริการแต่ก็เป็นส่วนลดที่บริษัทฯ ได้ลดให้ก่อนการให้บริการ ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้หักส่วนลดออกจากราคาค่าบริการที่เรียกเก็บล่วงหน้าดังกล่าว โดยได้แสดงให้เห็น ไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ส่วนลดที่บริษัทฯ ได้ลดให้ทันที ดังกล่าวไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีจากการให้บริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 62/27634 |