เลขที่หนังสือ | : กค 0811/02504 |
วันที่ | : 19 มีนาคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลขาดทุนกรณีหลักทรัพย์มีมูลค่าลดลง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี, มาตรา 65 ทวิ |
ข้อหารือ | : จากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เกิดขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มี คำสั่งให้สถาบันการเงินหลายแห่งปิดดำเนินกิจการ หรือบางกรณีมีการเข้าควบคุมการดำเนินกิจการ และ มีคำสั่งให้ลดทุนจดทะเบียนลง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการบริหารงานก่อน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าดำเนินกิจการ ซึ่งทำให้เงินลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าลดลงเป็น การถาวรและไม่มีโอกาสได้รับชำระคืนหรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ผล ขาดทุนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าลดลงเป็นการถาวร โดยไม่มีโอกาสที่จะได้รับชำระคืนหรือมี มูลค่าเพิ่มขึ้น จะต้องถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีนั้น ๆ ซึ่งการลดมูลค่าของเงินลงทุนนั้น อาจ เกิดจากการลดทุนตามคำสั่งของหน่วยงานราชการ หรือเกิดจากการที่กิจการประสบผลขาดทุนจนทำให้ ผู้ถือหุ้นต้องรับภาระความเสียหายที่เกิดขึ้น ธนาคารสมาชิกจึงมีความเห็นว่า มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในกรณีต่อไปนี้ควรหักเป็น ค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล 1. การลดทุนตามคำสั่งของหน่วยงานราชการ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. ส่วนต่างระหว่างเงินลงทุนกับมูลค่าของหุ้นที่ลดลงเป็นการถาวรในบัญชีกำไรขาดทุน เงินลงทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักผลขาดทุนจากการลดทุนแล้ว จะถือเสมือนหนึ่งเป็นต้นทุน ใหม่ของเงินลงทุน |
แนววินิจฉัย | : การที่ธนาคารซื้อหลักทรัพย์และต่อมาราคาของหลักทรัพย์ลดลงแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังนี้ 1. หลักทรัพย์ที่ซื้อมาเพื่อค้า เข้าลักษณะเป็นสินค้า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ธนาคาร ต้องคำนวณราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่ อย่างใดจะน้อยกว่า และในกรณีที่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุน มีผล ทำให้ธนาคารขาดทุน ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร จะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะการตีราคาตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าทุนนั้น เท่ากับเป็นการหักรายจ่ายไปครั้งหนึ่งแล้วทั้งนี้ ไม่ว่าการที่หลักทรัพย์ราคาลดลงจะเกิดจากการที่ ทางราชการมีคำสั่งลดทุน หรือถูกปิดกิจการ 2. กรณีหลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน และมีราคาตามที่พึงซื้อมา ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการตีราคาหลักทรัพย์ให้ลดลงจากราคาที่พึงซื้อ ครั้งแรกมูลค่าหลักทรัพย์ลดลงจึงเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง" ตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารไม่มีสิทธินำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลดลงมาถือเป็นรายจ่ายได้ เพราะต้อง ห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าการที่หลักทรัพย์ราคาลดลงจะเกิดจาก การที่ทางราชการมีคำสั่งลดทุนหรือถูกปิดกิจการ |
เลขตู้ | : 62/27652 |