เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/02515
วันที่: 19 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50, มาตรา 52, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)ฯ
ข้อหารือ: ธนาคาร เอ จำกัด ได้หักเงินเป็นภาษีดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของนาย
ก ตามข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55) เรื่อง กำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก
ธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.
2538
"ข้อ 2 ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภท
ออมทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็น
ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ซึ่งใช้สมุด
คู่ฝากในการฝากถอนและไม่ใช้เช็คในการถอน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงิน
จากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใดและมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้น
ไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น" ขอทราบว่า
1. กรณีไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่ดอกเบี้ยตลอดปีภาษีไม่ถึง 20,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้อง
เสียภาษีเงินได้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)ฯ ลงวันที่ 21
ธันวาคม พ.ศ.2538 หรือไม่ อย่างไร
2. กรณีคู่สัญญามีเพียงข้อตกลงกับธนาคารให้ผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีเงินฝาก
ออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่ยังไม่เคยมีการหักหรือโอนตามสัญญาแต่อย่างใด เมื่อครบ
กำหนดชำระภาษีดอกเบี้ยประจำปี จะต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมาเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอน
เงินจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แม้จะมีจำนวนดอกเบี้ยตลอดปีภาษีนั้นไม่ถึง
20,000 บาทก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้น
ภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์
ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ผู้ฝากเงินจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จาก
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้นแต่อย่างใด
2. กรณีตามข้อเท็จจริง การที่เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์คู่สัญญาตกลงกับธนาคารให้
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้น ผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝาก
กระแสรายวันโดยที่ยังมิได้มีการหักหรือโอนเงินตามสัญญาเลยก็ตาม กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปยัง
บัญชีเงินฝากกระแสรายวันแล้วกรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
(ฉบับที่ 55)ฯ ลงวันที่ 21 ธันวาคมพ.ศ. 2538 ผู้ฝากเงินจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จาก
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตาม
มาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27655

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020