เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.02619 |
วันที่ | : 23 มีนาคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเหตุจำเป็นที่ไม่นำใบกำกับภาษีไปหักในเดือนภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/3, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ก จำกัด ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ประจำเดือนเมษายน 2538 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 โดยนำใบกำกับภาษีซื้อของเดือนก่อนมารวมยื่นด้วย กล่าวคือ บริษัทฯ ได้แสดงยอดภาษีขายใน เดือนเมษายน 2538 จำนวน 10,768,796.50 บาท แสดงยอดภาษีซื้อในเดือนเมษายน 2538 จำนวน 9,019,670.31 บาท แต่ยอดภาษีซื้อจำนวน 9,019,670.31 บาท นั้น มีใบกำกับภาษีที่เป็น ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ซึ่งระบุวันที่ในเดือนมีนาคม 2538 รวมอยู่ด้วยเป็นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,276,822 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากภาษีซื้อจำนวน 2,276,822 บาท นั้น เป็นภาษีซื้ออันเกิดจาก การนำสินค้าบุหรี่จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการ ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯประกอบกับบริษัทชิปปิ้งซึ่งเป็นผู้ออกของให้แก่บริษัทฯ ได้ส่งมอบใบเสร็จรับเงินดังกล่าวพร้อมหลักฐานการนำเข้าให้แก่บริษัทฯ ในเดือนเมษายน 2538 อันเป็น ประเพณีทางการค้าของบริษัทชิปปิ้งที่จะรวบรวมส่งเอกสารให้ลูกค้าเป็นช่วง ๆ ฉะนั้น บริษัทฯ จึงได้เก็บ ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวรวบรวม และลงรายงานภาษีซื้อพร้อมกับใบกำกับภาษีอื่นที่บริษัทฯ ได้รับในเดือน เมษายน 2538 และยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อและภาษีซื้อตามรายงานภาษีซื้อ ขอทราบว่า บริษัทฯ ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมศุลกากร ซึ่งเกิดจาก การนำเข้าสินค้าดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ได้รับใบกำกับภาษีที่มิใช่ เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีได้ ทั้งนี้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับ ที่ 4)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 |
เลขตู้ | : 62/27679 |