เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/02738
วันที่: 25 มีนาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่ลูกจ้างได้รับจากการปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27, มาตรา 40, มาตรา 42, มาตรา 48, มาตรา 64, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก จำกัด
เป็นผู้จัดการกองทุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติยกเลิกกองทุนตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2541 และจ่ายคืนเงินกองทุนให้กับพนักงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ทราบว่า
เงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการปิดกองทุนดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินอื่น ทำให้พนักงานต้องรับภาระ
ภาษีมากขึ้นเป็น 2 เท่า และสำหรับพนักงานที่ใกล้จะเกษียณอายุ ก็มีภาระภาษีแทนที่จะได้รับยกเว้นภาษี
เมื่อได้รับเงินเมื่อเกษียณอายุบริษัทฯ จึงขอให้หามาตรการในการคำนวณภาษีเงินได้จากเงินกองทุน
ดังกล่าว และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่พนักงาน ขอให้พนักงานยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ
ภ.ง.ด.91 เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไปก่อนภายในวันที่ 31 มีนาคม
2542 นี้ และยื่นเสียภาษีจากเงินกองทุนฯ เพิ่มเติมเมื่อได้ข้อยุติ
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง
1. เงินที่พนักงานได้รับจากการปิดกองทุนฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ถือเป็น
เงินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินได้ดังกล่าว
ไม่ใช่เงินที่พนักงานได้รับเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตายตามข้อ 2 (36) แห่ง
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ.
2538)ฯ ดังนั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร
และหากเงินที่พนักงานได้รับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 นี้ มิใช่กรณีบริษัทฯ เลิกจ้างหรือพนักงานขอ
ลาออกจากงาน จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นที่ได้รับในปีภาษี 2541
ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542
ทั้งนี้ ไม่อาจขยายเวลาการชำระภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปิดกองทุนฯ ดังกล่าวได้
2. สำหรับมาตรการในการบรรเทาภาระภาษี ถ้าจำนวนภาษีที่พนักงานจะต้องเสียสำหรับ
เงินได้พึงประเมินข้างต้นภายในกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2542 มีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป
พนักงานจะชำระภาษีเป็นสามงวด ๆ ละเท่า ๆ กันก็ได้ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนี้
งวดที่หนึ่ง ต้องชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542
งวดที่สอง ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง (ภายในวันที่ 30
เมษายน 2542)
งวดที่สาม ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง (ภายในวันที่
31 พฤษภาคม 2542)
ถ้าไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว พนักงานหมดสิทธิที่จะชำระ
ภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับงวดที่ไม่ชำระ
และงวดต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27695

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020