เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.03191
วันที่: 7 เมษายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทำสัญญากับส่วนราชการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อนุมัติให้ขยายเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่
ผู้รับเหมาก่อสร้าง กรณีผู้รับเหมาก่อสร้างได้ยื่นซองเสนอราคาหรือทำสัญญากับส่วนราชการก่อนวันที่ 16
สิงหาคม 2540 และได้ยื่นคำขอรับสิทธิเพื่อขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตาม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการ
ให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2540
และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป สำหรับการให้บริการที่อยู่ในระหว่าง
อายุสัญญาที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิดังกล่าว แต่ไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม 2542 แต่สัญญารับเหมาก่อสร้าง
ดังกล่าวได้มีการตกลงขยายเวลาสัญญาออกไปอีกตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้การให้บริการก่อสร้าง
ภายหลังจากที่ได้มีการขยายเวลาสัญญาต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 โดยในกรณีดังกล่าว
ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.0 ของค่าจ้างที่ได้รับ ได้รับอนุมัติให้
ขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 โดยไม่ต้องเสีย
เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
แนววินิจฉัย: เนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น
อัตราร้อยละ 7.0 สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 ดังนั้น การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้รับเหมา
ก่อสร้างที่ทำสัญญากับส่วนราชการดังกล่าว สำหรับการให้บริการรับเหมาก่อสร้างภายหลังที่ได้มีการ
ขยายเวลาสัญญาก่อสร้างออกไปตามมติคณะรัฐมนตรี จึงมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
1. การให้บริการก่อสร้างที่มีการรับชำระเงินค่าจ้าง โดยความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่มีการขยายเวลาสัญญาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 โดยสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3.0
ของค่าจ้างที่ได้รับ ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม
2542 โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
2. การให้บริการก่อสร้างที่มีการรับชำระเงินค่าจ้าง โดยความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2544 ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 7.0 จึงไม่มีกรณีที่จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3.0 และไม่ต้องตั้ง
เบิกเงินงบประมาณชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวแต่อย่างใด
3. การให้บริการก่อสร้างที่มีการรับชำระเงินค่าจ้าง โดยความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0
เลขตู้: 62/27737

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020