เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/03406
วันที่: 19 เมษายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 67 ทวิ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2541 โดยแสดงประมาณการ
กำไรสุทธิครึ่งปี 900,000 บาท คิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 256,738.77 บาท บริษัทฯ ขอใช้สิทธิตาม
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีอากรสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการตาม
มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 แบ่งชำระ 7 งวด ตั้งแต่เดือน
สิงหาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เฉลี่ยเดือนละ 36,676.97 บาท หลังจากบริษัทฯ ผ่อนชำระ
ภาษีไปได้ 2 งวด ปรากฏว่าการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่บริษัทฯ ประมาณการไว้เนื่องจาก
ภาวะเศรษฐกิจและดอกเบี้ยรับของบริษัทฯ ลดลง บริษัทฯ จึงได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 อีก 1 ฉบับ เพื่อ
ปรับปรุงประมาณการกำไรสุทธิและจำนวนภาษีจากที่ยื่น ภ.ง.ด.51 ในครั้งแรกไว้ 256,738.77 บาท
โดยปรับปรุงกำไรจากเดิม 1,800,000 บาท เป็นกำไร 577,434.34 บาท ทำให้คำนวณภาษีกลางปี
ได้ 73,353.92 บาท เท่ากับจำนวนภาษีที่บริษัทฯ ผ่อนชำระไป 2 งวด งวดละ 36,676.97 บาท
บริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งการงดผ่อนภาษีส่วนที่เหลืออีก 5 งวด ๆ ละ 36,676.97 บาท รวมเป็น
เงิน 183,384.85 บาท ตามการยื่น ภ.ง.ด.51 ปรับปรุงเพิ่มเติม
บริษัทฯ จึงหารือว่าการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมในครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เงินภาษีที่ต้อง
ชำระตามประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพิ่มเติมเท่ากับภาษีที่บริษัทฯ ได้ผ่อนชำระไป
แล้ว 2 งวด บริษัทฯ ยังจะต้องชำระภาษีในส่วนที่เหลือในงวดที่ 3-7 อีกหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิของรอบ
ระยะเวลาบัญชีปี 2541 เป็นจำนวน 1,800,000 บาท และได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของกำไรสุทธิครึ่ง
รอบบัญชีจำนวน 900,000 บาท ในวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นการยื่นแบบฯ ภายในระยะเวลาที่
กฎหมายกำหนดตามมาตรา 67 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังมิได้ชำระภาษีโดยบริษัทฯ ได้ขอผ่อนชำระ
ภาษีเป็น 7 งวด เนื่องจากบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิการขยายเวลาการชำระภาษีตาม
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องขยายเวลาการชำระภาษีอากรสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการตาม
มาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งการขยายเวลาตาม
ประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ดังนั้น ในกรณีนี้บริษัทฯ
จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามที่ได้จัดทำประมาณการและยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ฉบับแรก โดย
บริษัทฯ จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่ได้รับสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับ
ดังกล่าว
2. ในกรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 อีก 1 ฉบับ เพื่อปรับลดยอดภาษี
ให้ต่ำกว่ายอดภาษีตาม ภ.ง.ด.51 ฉบับแรกซึ่งมีผลสมบูรณ์นับแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการนั้น โดยบริษัทฯ
อ้างว่าเนื่องจากผลการดำเนินการของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ในครั้งแรก โดยการยื่น
ปรับลดดังกล่าวมีผลให้บริษัทฯ ไม่มีภาษีที่จะต้องชำระในงวดที่ 3 - 7 เพราะภาษีที่คำนวณใหม่เท่ากับ
จำนวนภาษีที่ได้ผ่อนชำระไว้แล้ว จำนวน 2 งวดนั้น กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับที่
2 ซึ่งได้ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยอาศัยเหตุที่การประกอบกิจการที่เกิดขึ้น
หลังจากที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ไม่เป็นไป
ตามที่ได้ประมาณการไว้ จะมีผลให้ลบล้างจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ได้
ยื่นไว้ในครั้งแรกซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่แรก ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องผ่อนชำระภาษีงวดที่ 3 - 7
ต่อไป อนึ่ง บริษัทฯ มีสิทธิที่จะนำภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ดังกล่าวไปถือเป็นเครดิตใน
การคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและหากปรากฏว่าคำนวณภาษีแล้วมีภาษีที่
ชำระไว้เกิน บริษัทฯ ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ค.10
เลขตู้: 62/27756

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020