เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.03662 |
วันที่ | : 22 เมษายน 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียกเว้นภาษีของบรรษัทประกันภัย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/2, พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534ฯ |
ข้อหารือ | : บรรษัทประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาแห่งภูมิภาคเอเชียและ แปซิฟิคจำนวน 10 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ประกอบกิจการรับประกันภัยต่อ ซึ่งถือเป็นการ รับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการที่อยู่ใน บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เนื่องจากบรรษัทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีอากรทั้งปวงสำหรับ เบี้ยประกันภัย ตามข้อกำหนดในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกัน ต่อเอเชีย พ.ศ. 2534 ดังนั้นบรรษัทฯ จึงได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับ จากการรับประกันภัยต่อ แต่ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขปรับปรุงประมวลรัษฎากรเป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป การรับประกันวินาศภัยรวมทั้งการรับประกันภัยต่อ เป็นการประกอบกิจการ ให้บริการประเภทหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงขอทราบว่า บรรษัทฯ จะได้รับ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการรับประกันภัยต่อด้วยหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : การประกอบกิจการรับประกันภัยต่อของบรรษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการ ให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และแม้ว่าตาม มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกันภัย พ.ศ. 2534 จะกำหนดให้ บรรษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีอากรทั้งปวงสำหรับเบี้ยประกันภัย แต่โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมาย ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 และมิได้ระบุว่าให้ยกเว้นภาษีประเภทใดประเภทหนึ่งโดย เฉพาะ จึงไม่ให้มีความหมายเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ฉะนั้น บรรษัทฯ จึงไม่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากเบี้ยประกันที่ได้รับจากการรับประกันภัยต่อแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 62/27766 |