เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.03726 |
วันที่ | : 26 เมษายน 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 78, มาตรา 78/1, มาตรา 82/10, มาตรา 86, มาตรา 86/10, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ กรุงเทพมหานคร มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้า บริษัทฯ มี ขั้นตอนการออกใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงินและใบลดหนี้ ดังนี้ 1. ในแต่ละเดือน สำนักงานใหญ่จะเป็นผู้พิมพ์ใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี ส่งให้แก่ ลูกค้าทางไปรษณีย์ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 9 แสนราย 2. เมื่อลูกค้าชำระเงินค่าบริการ บริษัทฯ จะออกใบเสร็จรับเงินให้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการ ชำระเงินของลูกค้า เช่น หากลูกค้าชำระเงินผ่านทางธนาคารหรือผ่านทางเครื่อง เอ.ที.เอ็มาตรา หรือ ผ่านทางโทรศัพท์หักบัญชีเงินฝากหรือหักบัญชีบัตรเครดิต บริษัทฯ จะส่งใบเสร็จรับเงินไปให้ทางไปรษณีย์ แต่ถ้าลูกค้ามาชำระเงิน ณ ที่ทำการหรือสาขาของบริษัทฯ ก็จะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าทันที 3. การออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี ที่ส่งให้แก่ลูกค้าในบางครั้งมีข้อผิดพลาด เนื่องจากคำนวณค่าใช้บริการผิดพลาด โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทฯ จัดรายการส่งเสริมการขายโดยมีการ ยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ แต่ปรากฏว่า ใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษีที่ออกไปไม่ได้ทำการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าบริการตามสิทธิ์ที่ลูกค้าได้รับ เมื่อมีการตรวจพบจากบริษัทฯ เองหรือลูกค้าเป็นผู้แจ้งให้ทราบ บริษัทฯ จะออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 ให้แก่ลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งต่อสำนักงานใหญ่หรือสาขาของบริษัทฯ แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ ทั่วประเทศได้ตามความสะดวกของลูกค้า ซึ่งสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่รับแจ้งจะเป็นผู้ออกใบลดหนี้ให้แก่ ลูกค้า และบริษัทฯ จะนำใบลดหนี้ดังกล่าวมาบันทึกเพื่อลดยอดภาษีขายในรายงานภาษีขายของ สำนักงานใหญ่หรือสาขานั้น ๆ 4. บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมกัน ณ สำนักงานสรรพากรเขตพญาไท อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ จากข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ ขอทราบว่า วิธีการปฏิบัติในการออกใบลดหนี้นั้น ถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ และได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว ตามมาตรา 86 ประกอบกับมาตรา 78 หรือมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาถ้ามีเหตุการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลง ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 86/10 แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ออกใบลดหนี้ได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนเดียวกันกับที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ และได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว 2. กรณีบริษัทฯ จัดรายการส่งเสริมการขายโดยมีการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมหรือ ค่าบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ปรากฏว่า ใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี ที่ สำนักงานใหญ่ออกให้ลูกค้าบางราย ไม่ได้ทำการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าบริการตามสิทธิที่ลูกค้าควรจะได้ รับ ถือว่า เป็นการคำนวณค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าความเป็นจริง ตามมาตรา 82/10 (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ตรวจพบหรือได้รับแจ้งจากลูกค้า บริษัทฯ มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากรได้ 3. กรณีสำนักงานใหญ่ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี และส่งมอบให้ลูกค้า แสดงว่า สำนักงานใหญ่เป็นผู้ให้บริการและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนได้รับชำระค่าบริการตามมาตรา 78/1 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อลูกค้าชำระค่าบริการไม่ว่าชำระที่สำนักงานใหญ่หรือสาขา หรือผ่านทาง ธนาคาร หรือทางโทรศัพท์ เป็นเพียงวิธีการชำระหนี้ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากมี เหตุการณ์ตามข้อ 2 เกิดขึ้นสำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นผู้ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี ไปแล้ว ต้อง เป็นผู้ออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับผู้รับบริการด้วยเช่นกัน สาขาจะออก ใบลดหนี้ไม่ได้ส่วนกรณีสาขาดึงข้อมูลของใบแจ้งหนี้ค่าบริการ/ใบกำกับภาษี ฉบับเดิมที่สำนักงานใหญ่เป็น ผู้ออกซึ่งบันทึกในคอมพิวเตอร์ทางระบบ Online แล้วพิมพ์ใบลดหนี้ โดยใช้เครื่องพิมพ์ (Printer) ที่ สาขา หากใบลดหนี้ดังกล่าว แม้ว่าจะพิมพ์ที่สาขา แต่มีข้อความในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับใบลดหนี้ที่ออกโดยสำนักงานใหญ่ โดยใช้ชื่อและที่อยู่ของ สำนักงานใหญ่ สำเนาใบลดหนี้จะต้องเก็บไว้ ณ สถานประกอบการของสำนักงานใหญ่ และรายการใน ใบลดหนี้ดังกล่าวต้องบันทึกเพื่อลดยอดภาษีขายในรายงานภาษีขายของสำนักงานใหญ่ในเดือนภาษีที่ได้ ออกใบลดหนี้ ถือว่า ใบลดหนี้ดังกล่าวได้ออกโดยสำนักงานใหญ่ สาขาเป็นเพียงหน่วยงานที่พิมพ์และ ส่งมอบใบลดหนี้ให้แก่ผู้รับบริการแทนสำนักงานใหญ่เท่านั้น ใบลดหนี้ดังกล่าวจึงเป็นใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว |
เลขตู้ | : 62/27769 |