เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.03730
วันที่: 26 เมษายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อรถยนต์นั่งของกิจการอพาร์ทเมนท์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 81, มาตรา 82/5, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่า
อสังหาริมทรัพย์ (อพาร์ทเมนท์) สังหาริมทรัพย์ (เฟอร์นิเจอร์และอื่น ๆ) และให้บริการต่าง ๆ ที่
เกี่ยวข้องกับการให้เช่าดังกล่าวบริษัทฯ ได้จัดซื้อรถยนต์ตู้สามตอนขนาดที่นั่ง 11 คน มาไว้เพื่อใช้ใน
กิจการของบริษัทฯ และบริการลูกค้าที่เช่าอพาร์ทเมนท์ของบริษัทฯ โดยมิได้เรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติม
ในรายการจดทะเบียนระบุว่าเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน บริษัทฯ มีความเห็นว่า ภาษีซื้อที่
เกิดจากการซื้อ หรือเช่าซื้อ เช่าหรือโอนรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์โดยสารตามกฎหมายว่าด้วยพิกัด
อัตราภาษีสรรพสามิต และมีที่นั่งเกิน 10 คน จึงไม่ต้องห้ามตามข้อ 2 (1) แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง แยกพิจารณาได้ ดังนี้
1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอพาร์ทเมนท์ โดยได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น
ผู้ประกอบการประเภทให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ ให้บริการส่วนกลางและสาธารณูปโภค กรณีการให้เช่าห้องพัก
ในอพาร์ทเมนท์เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีการให้เช่า
เฟอร์นิเจอร์ การให้บริการส่วนกลางและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการใน
ราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์ตู้มาใช้ในการประกอบกิจการอพาร์ทเมนท์ ภาษีซื้อรถยนต์ตู้
ดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องห้าม
ตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักใน
การคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27
ธันวาคม พ.ศ.2534
เลขตู้: 62/27773

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020