เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.03998
วันที่: 3 พฤษภาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 เป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ประเภทกิจการที่ประกอบได้แก่
ผลิต นำเข้าและส่งออกยา และอาหารใช้สำหรับคนและสัตว์ เครื่องมือทางการแพทย์ ขายปลีก ขายส่ง
อาหารสัตว์ และยาสำหรับสัตว์ ซึ่งการประกอบกิจการของบริษัทฯ ดังกล่าว มีทั้งการประกอบกิจการ
ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตั้งแต่ปี 2535 บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
และรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
ปี รายได้เกี่ยวกับกิจการ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รายได้ที่ได้รับยกเว้น
พ.ศ. อัตรา 7% อัตรา 0% ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2535 155,364,547.98 30,403,277.40 30,204,171.61
2536 165,280,778.98 5,494,256.26 35,380,998.18
2537 185,881,822.29 3,361,545.76 44,210,075.74
2538 186,436,347.42 9,111,097.55 43,798,025.14
2539 211,906,095.14 5,195,972.56 63,414,382.76
ม.ค.-มี.ค.2540 57,312,090.13 1,650,293.84 17,677,914.24
บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานหลังใหม่ เพื่อใช้ในการผลิตยาโคลิสติน
สำหรับสัตว์ในปี 2539 ซึ่งจะมีทั้งการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และขายในประเทศ โดย
ประมาณการเมื่อเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิต คาดว่าจะมีการส่งออกขายต่างประเทศ กับการขาย
ในประเทศจะเป็นอัตรา 70:30 ซึ่งบริษัทได้เริ่มทำการผลิตยาสำหรับสัตว์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 เมษายน
2540 โดยได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตร
ส่งเสริมการลงทุน โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ ต้องทำการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 80 และขายใน
ประเทศร้อยละ 20 ซึ่งการก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อใช้ผลิตยาดังกล่าวเป็นอาคารโรงงานเพื่อใช้ผลิต
ยาสำหรับสัตว์เพื่อส่งออก ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผลิตยาสำหรับสัตว์ขายในประเทศ ซึ่งได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการใช้พื้นที่อาคารที่จะใช้ในการ
ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายได้ เพราะในการผลิตยา
สำหรับสัตว์ในอาคารโรงงานหลังใหม่ จะต้องใช้พื้นที่เดียวกัน บุคลากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ
ชุดเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถแยกกันได้อย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อของวัสดุและ
การก่อสร้างอาคารในอัตรา 50:50 ตามข้อ 7 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งในทางปฏิบัติบริษัทฯ อาจทำไม่ถูกต้อง เนื่องจาก
ยังไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
บริษัทฯ จึงขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างอาคารโรงงานหลังใหม่ดังกล่าว
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่
9 มีนาคม พ.ศ. 2535
แนววินิจฉัย: ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารโรงงานของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็น
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อใช้ร่วมกันในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าจะใช้ในกิจการใดประมาณการพื้นที่การใช้
อาคารเท่าใด จึงไม่สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ของข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้ ดังนั้น จึงอนุมัติให้บริษัทฯ
เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วน 50:50 ตามที่บริษัทฯร้องขอได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 62/27786

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020