เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/04146
วันที่: 6 พฤษภาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส, มาตรา 50 ทวิ, มาตรา 63
ข้อหารือ: บริษัท เอ จำกัด ประกอบกิจการอุตสาหกรรมส่งออก ได้ซื้อน้ำยางสดจากบริษัท ก ต่อมา
บริษัท ข ได้อ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของน้ำยางสดที่ซื้อขายกัน และได้มีการฟ้องคดีต่อศาล และยื่นคำร้อง
ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้บริษัท เอ จำกัด นำเงินที่ได้จากการขาย
น้ำยางสดไปวาง ณ สำนักงานบังคับคดี เพื่อจ่ายให้กับผู้ชนะคดีเมื่อคดีถึงที่สุด และบริษัท เอ จำกัด ได้
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรแล้วตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในแบบว่า "บริษัท ก
หรือบริษัท ข (เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี)" แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับบริษัททั้งสองจนกว่าจะทราบผลคดี จึงขอทราบว่า
1. การกระทำดังกล่าวตามข้อเท็จจริงข้างต้นของ บริษัท เอ จำกัด ถูกต้องด้วยกฎหมาย
หรือไม่ และถ้าไม่ถูกต้อง บริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไร
2. ถ้าคดีมีอายุเกินสิทธิขอคืนภาษี 3 ปี ตามมาตรา 27 ตรี ผู้ถูกหักจะขอคืนภาษีตาม
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้หักออกให้ เมื่อคดีสิ้นสุดได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตาม 1 ตามข้อเท็จจริงเมื่อบริษัทฯ ได้ตกลงซื้อน้ำยางสดจากบริษัท ก บริษัทฯ ใน
ฐานะผู้ซื้อย่อมมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายให้แก่บริษัท ก ในฐานะผู้ขาย การที่บริษัทฯ ผู้ซื้อ
ได้ชำระราคาน้ำยางสดและได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย พร้อมกับได้นำส่งกรมสรรพากรแล้ว บริษัทฯ จึง
ต้องมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่บริษัท ก ทันทีที่มีการหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัท ข อ้างกรรมสิทธิ์น้ำยางสดที่บริษัทฯ
ซื้อจากบริษัท ก และได้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่งระหว่าง
บริษัท ก กับบุคคลภายนอก จึงไม่กระทบต่อบทบังคับตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตาม 2 ตามข้อเท็จจริงตาม 1 เป็นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส
แห่งประมวลรัษฎากร หากมีกรณีขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มาตรา 3 เตรส บัญญัติให้นำมาตรา
63 แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น ผู้ถูกหักภาษีหากประสงค์จะขอคืนภาษีเงินได้หัก
ณ ที่จ่าย ต้องยื่นคำขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27799

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020