เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.ว.04437
วันที่: 12 พฤษภาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1, มาตรา 78, มาตรา 80, มาตรา 86, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542
ข้อหารือ: ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษี
มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ
10.0 เป็นอัตราร้อยละ 7.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544
และจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป นั้น
เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการที่คำนวณภาษี
มูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544
เป็นแนวทางเดียวกัน กรมสรรพากรจึงเรียนมาเพื่อซ้อมความเข้าใจดังต่อไปนี้
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการแก่ส่วนราชการผู้ประกอบการ
จดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
(1) กรณีการขายสินค้าเสร็จเด็ดขาด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของ
ผู้ประกอบการจดทะเบียนเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่
ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับชำระค่าสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบสินค้า ความรับผิดใน
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา
78 (1) (ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
(ก) ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งมอบสินค้าให้แก่ส่วนราชการก่อนวันที่ 1
เมษายน พ.ศ.2542 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ตาม
มาตรา 78 (1)และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการ
ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าส่วนราชการจะชำระค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1
เมษายน พ.ศ.2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ก็ตาม กรณีดังกล่าว ส่วนราชการต้องจ่ายค่า
สินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 10.0 ตัวอย่าง บริษัท ก จำกัด ทำสัญญาขายครุภัณฑ์กับ
ส่วนราชการวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 มูลค่าสินค้า 1,122,000 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 10.0 ไว้แล้ว บริษัท ก ส่งมอบครุภัณฑ์ทั้งหมดวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2542 บริษัท ก
ต้องออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2542 โดยคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 1,122,000 บาท คูณด้วย 10 หารด้วย 110 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 102,000
บาท เป็นมูลค่าสินค้า 1,020,000 บาท (1,122,000 หักด้วย 102,000) เมื่อส่วนราชการชำระค่า
สินค้าวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2542 จะต้องชำระเงิน 1,122,000 บาท
(ข) ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งมอบสินค้าให้แก่ส่วนราชการตั้งแต่วันที่ 1
เมษายน พ.ศ. 2542 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78 (1) และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดย
ออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าส่วนราชการจะ
ชำระค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป กรณีดังกล่าว
ส่วนราชการต้องจ่ายค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 7.0
ตัวอย่าง บริษัท ก จำกัด ทำสัญญาขายครุภัณฑ์กับส่วนราชการวันที่ 1
มีนาคม พ.ศ. 2542 มูลค่าสินค้า 1,122,000 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ไว้แล้ว
บริษัท ก ส่งมอบครุภัณฑ์ทั้งหมดวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 บริษัท ก ต้องออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้
แก่ส่วนราชการในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยคำนวณมูลค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ ดังนี้
มูลค่าสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามสัญญา 1,122,000.00 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,122,000 x 10 102,000.00 บาท
110
มูลค่าสินค้าสุทธิ 1,020,000.00 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,020,000 x 7 71,400.00 บาท
100
ต้องเรียกเก็บรวม 1,091,400.00 บาท
(2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตหรือขายสินค้าประเภทและชนิดนั้นเป็นปกติ
อยู่แล้ว แม้ว่าส่วนราชการจะสั่งให้ผลิตตามแบบที่กำหนดซึ่งแตกต่างไปจากสินค้าที่ผลิตหรือขายเป็นปกติอยู่
บ้าง แต่ก็ยังคงเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกัน ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้า ตามมาตรา
77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและการชำระค่าสินค้า ปฏิบัติ
เช่นเดียวกับ (1)
(3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง เช่น การขาย
เครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง หากตกลงเป็นราคาเหมารวมโดยไม่แยกว่าเป็นค่าสินค้าจำนวนเท่าใด
และค่าติดตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและการชำระค่าสินค้า ปฏิบัติเช่นเดียวกับ (1) แต่หากตกลงโดย
แยกราคาค่าสินค้าและราคาค่าติดตั้งออกจากกัน ค่าติดตั้งที่แยกออกมายังคงถือเป็นบริการ
(4) กรณีการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ ที่กรรมสิทธิ์ใน
สินค้า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ
จดทะเบียนเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดตามมาตรา 78 (2)
แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อน
ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า
หรือได้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 78 (2) (ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ดังนั้น
(ก) ถ้างวดที่ถึงกำหนดชำระราคาค่าเช่าซื้อเป็นงวดก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ผู้ประกอบการ
จดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ตามมาตรา 78 (2) และมาตรา 80 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
แม้ว่าส่วนราชการจะไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระก็ตาม กรณีดังกล่าว ส่วนราชการต้อง
จ่ายค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 10.0(ข) ถ้างวดที่ถึงกำหนดชำระราคาค่าเช่า
ซื้อเป็นงวดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ผู้ประกอบการ
จดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78 (2) และมาตรา 80 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
แม้ว่าส่วนราชการจะไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามงวดที่ถึงกำหนดชำระก็ตามกรณีดังกล่าว ส่วนราชการต้อง
จ่ายค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 7.0 ซึ่งการคำนวณค่าเช่าซื้อและภาษีมูลค่าเพิ่ม
เช่นเดียวกับตัวอย่าง (1) (ข)
(5) กรณีการให้บริการความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ
จดทะเบียนเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (1) หรือเมื่อได้รับชำระราคา
ค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ตามมาตรา 78/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่
ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 78/1 (1) (ก) และมาตรา 78/1 (2) (ก)
แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี เช่น การรับจ้างซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ การรับเหมา
ก่อสร้างอาคาร ดังนั้น
(ก) ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนรับชำระราคาค่าบริการก่อนวันที่ 1 เมษายน
พ.ศ. 2542 หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนรับชำระราคาค่าบริการก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542
ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ตามมาตรา 78/1 และมาตรา
80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการตามมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ส่วนราชการต้องจ่ายค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 10.0
(ข) ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนรับชำระราคาค่าบริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน
พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนรับชำระราคาค่าบริการ
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 78/1 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดย
ออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนราชการต้องจ่าย
ค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 7.0 ตัวอย่าง บริษัท ข จำกัด ทำสัญญารับเหมา
ก่อสร้างกับส่วนราชการวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2543 มูลค่า
งานก่อสร้าง 16,500,000 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ไว้แล้ว บริษัท ข ส่งมอบ
งานบางส่วน และส่วนราชการตรวจรับมอบงานบางส่วนแล้ววันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2541 บริษัท ข
ออกใบแจ้งหนี้ค่างานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 จำนวน 5,500,000 บาท ส่วนราชการชำระค่า
งานวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2542 จำนวน 5,500,000 บาท บริษัท ข ต้องออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้
แก่ส่วนราชการในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2542 โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5,500,000 บาท คูณ
ด้วย 10 หารด้วย 110 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 500,000 บาท เป็นมูลค่างาน 5,000,000 บาท
ซึ่งส่วนราชการต้องจ่ายค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 5,500,000 บาทต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม
พ.ศ. 2542 บริษัท ข ส่งมอบงาน และส่วนราชการชำระค่างานส่วนที่เหลือจำนวน 11,000,000 บาท
บริษัท ข ต้องออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้แก่ส่วนราชการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยคำนวณ
มูลค่างานและภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ ดังนี้
มูลค่างานรวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามสัญญา 11,000,000.00 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 11,000,000 x 10 1,000,000.00 บาท
110
มูลค่างานสุทธิ 10,000,000.00 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10,000,000 x 7 700,000.00 บาท
100
ต้องเรียกเก็บรวม 10,700,000.00 บาท
2. กรณีส่วนราชการได้วางฎีกาเบิกเงินจากกรมบัญชีกลางหรือคลังจังหวัด ตามจำนวนค่า
สินค้าหรือบริการที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 และได้รับอนุมัติฎีกาแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0
ส่วนราชการต้องจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 10.0
(2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ส่วน
ราชการต้องจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณในอัตราร้อยละ 7.0 ตามตัวอย่างข้อ
1(1) (ข) หรือข้อ 1 (5) (ข) แล้วแต่กรณีสำหรับเงินส่วนที่เหลือจากที่ได้รับอนุมัติฎีกา ให้นำส่ง
กรมบัญชีกลางหรือคลังจังหวัดตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 แต่
ได้ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากส่วนราชการในอัตราร้อยละ 10.0 และส่วนราชการได้
จ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ผู้ประกอบการ
จดทะเบียนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ซึ่งถือว่า
แสดงภาษีขายไว้เกินไป ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นคำร้องตามแบบ ค.10 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มใน
อัตราร้อยละ 3.0 ภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษีเกินไป กรณีดังกล่าวให้ส่วนราชการเรียกคืนเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่จ่ายเกินไปจากผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไป
เลขตู้:

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020