เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/04774
วันที่: 21 พฤษภาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายและรับโอนลูกหนี้เช่าซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 77/1, มาตรา 77/2, มาตรา 78, มาตรา 78/3, คำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.36/2536, กฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้จัดตั้งขึ้นมาแยกออกเป็นบริษัทให้เช่าซื้อต่างหาก ซึ่งแต่เดิมมี บริษัท เอ จำกัด
ซึ่งเป็นฝ่ายขายรถยนต์ และให้เช่าซื้ออยู่ในบริษัทเดียวกัน เมื่อจัดตั้งบริษัทฯ แล้วจึงได้ซื้อบัญชีเช่าซื้อ
ทั้งหมดมาจาก บริษัท เอ จำกัด โดยดำเนินการดังตัวอย่างต่อไปนี้
นาย ก ทำสัญญาเช่าซื้อ ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ผ่อนชำระ 12 งวด งวดแรกวันที่
15 มกราคม 2541 ถึง 15 ธันวาคม 2541 งวดละ 10,000 (รวม VAT 10% แล้ว) บริษัทฯ ซื้อบัญชี
นี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 โดยนาย ก ยังไม่ได้ผ่อนชำระเลยสักงวดเดียวแต่ บริษัท เอ จำกัด
ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มของงวด 1 และงวด 2 แล้ว เมื่อซื้อบัญชี บริษัทฯ จ่ายเงิน 10,000 x 12 =
120,000 + VAT 10% = 12,000 รวม 132,000 บาท ให้กับบริษัทผู้ขาย และได้ไปขอคืนภาษี
12,000 บาทนี้จากกรมสรรพากร ต่อมานาย ก มาชำระค่าเช่าซื้อ 4 งวด บริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงิน
งวด 1 งวด 2 งวด 3 งวด 4 และใบกำกับภาษีของงวด 3, 4 ให้กับนาย ก อีกทั้งมอบใบกำกับภาษี
ของ บริษัท เอ จำกัด ของงวด 1, 2 ให้กับนาย ก ด้วย
จึงขอทราบว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้การขายสินค้าตามสัญญาให้
เช่าซื้อ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวด เว้นแต่ได้มีการรับชำระราคาสินค้าหรือ
ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ
กรณีตามข้อเท็จจริงถึงแม้นาย ก ยังไม่ได้ผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อ บริษัท เอ จำกัด ก็
ยังคงมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละ
งวดตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตาม
งวดนั้น แต่จะยังไม่ส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้เช่าซื้อก็ได้ ทั้งนี้ตาม ข้อ 2 (3) แห่ง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 เรื่อง การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ
ที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ตามมาตรา 78 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ดังนั้นการที่ บริษัท เอ จำกัด ผู้ขาย เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของงวด
1 และงวด 2 (15 มกราคม และ 15 กุมภาพันธ์ 2541) โดยไม่ได้ส่งมอบใบกำกับภาษีให้นาย ก จึง
ถูกต้องแล้ว
2. กรณีที่บริษัท เอ จำกัด ได้โอนขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่บริษัทฯ เมื่อวันที่ 20
กุมภาพันธ์ 2541 ถือเป็นการขายสิทธิในทรัพย์สินที่อยู่ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เข้าลักษณะเป็น
การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้โอนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้โอน
ได้รับชำระราคาค่าตอบแทนจากการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เช่าซื้อตามมาตรา 78/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจึง
มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้
3. กรณีบริษัทฯ ได้รับโอนลูกหนี้เช่าซื้อจากผู้ขายแล้วถือเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของลูกหนี้ที่ต้องชำระก่อนการโอนขายสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ
ไม่ว่าผู้ขายจะนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ลูกหนี้ค้างชำระไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม บริษัทฯ คงรับผิดเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดที่ถึงกำหนดตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ จึงมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับงวดที่ถึง
กำหนดชำระตั้งแต่งวดที่ 3 (15 มีนาคม 2541) เป็นต้นไป ไม่ว่านาย ก จะนำเงินค่างวดมาผ่อนชำระ
หรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเมื่อนาย ก นำเงินมาชำระในงวดที่ 4 (15 เมษายน 2541) โดยชำระค่างวดที่
ค้างชำระในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ด้วย รวมจำนวน 4 งวด บริษัทฯ จึงต้องออกใบเสร็จรับชำระเงิน
และนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้ง 4 งวด แต่ออก
ใบกำกับภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะงวดที่ 3 และงวดที่ 4 เท่านั้น
เลขตู้: 62/27835

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020