เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/04930
วันที่: 26 พฤษภาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, มาตรา 70
ข้อหารือ: บรรษัทฯ จะได้ออกหุ้นกู้โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยจะรับเป็นนายทะเบียน และตัวแทน
การจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบรรษัทฯ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของ
ต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บรรษัทฯ จึงขอทราบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมี
หน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุน
อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502 โดยบรรษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนและ
อุตสาหกรรมบรรษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น
สำหรับให้กู้ยืมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ดังนั้น เมื่อบรรษัทฯ จ่ายเงินค่า
ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) ออกไปให้กับ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และบรรษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้อง
หักและนำส่งภาษี ตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
2. ในกรณีที่บรรษัทฯ ได้มีการทำสัญญาแต่งตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลอื่นใดเป็น
ตัวแทนในการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าวนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้รับดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่จ่ายจากหุ้นกู้ของบรรษัทฯ ย่อมไม่มีหน้าที่ต้อง
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลอื่นในฐานะตัวแทนของบรรษัทฯ ย่อมไม่มี
หน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษี ตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 62/27856

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020