เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.05186 |
วันที่ | : 2 มิถุนายน 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายทรัพย์สินของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรณีการรับจ้างผสมเคมีภัณฑ์แล้วส่งออกไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 80/1, มาตรา 82, มาตรา 82/3, มาตรา 82/5, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ยา กำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงแต่เพียงประเภทเดียว ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (จ)และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด และบริษัทประสงค์จะขายทรัพย์สินที่ใช้แล้วของบริษัท เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเครื่องจักรที่ใช้ในการบรรจุ ฯลฯ โดยวิธีให้ผู้สนใจยื่นเสนอประมูลโดยจะ กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไว้ และบริษัทฯ มีแผนธุรกิจในปี 2542 จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนอยู่ใน ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 10.0 สำหรับหน่วยงานใหม่ซึ่งจะตั้งขึ้นเพื่อให้บริการรับจ้างทำของแบบ Turnkey แก่บริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดเข้มข้น ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศและไม่มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ใน ประเทศไทยแต่อย่างใด โดยงานที่จะให้บริการแก่บริษัทดังกล่าว มีดังนี้ (1) รับจ้างผสมเคมีภัณฑ์ หรือทำให้เคมีภัณฑ์เจือจาง ตามสูตรที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดย ส่วนผสมที่ทำให้เคมีภัณฑ์เจือจาง มีทั้งกรณีที่ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาทั้งหมด และกรณีที่ผู้รับจ้างจัดหาบางส่วน (2) รับจ้างบรรจุเคมีภัณฑ์เจือจางจากข้อ (1) ลงในบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดคุณสมบัติ โดยผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาบรรจุภัณฑ์ (3) ในการรับจ้างผสม และบรรจุเคมีภัณฑ์ ผู้รับจ้างเป็นผู้นำเข้าเคมีภัณฑ์เข้มข้น และ ส่วนผสมอื่นๆและเป็นผู้ส่งออกเคมีภัณฑ์ที่บรรจุเรียบร้อยแล้ว สำหรับค่าบริการตามสัญญาจ้างบรรจุเคมีภัณฑ์ ตามข้อ (1)-(3) คิดค่าบริการเป็นการ เหมาในอัตรา xxx บาท ต่อการให้บริการ 1 lot ขอทราบดังนี้ 1. การขายทรัพย์สินที่ใช้แล้วของบริษัท ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องนำรายได้ จากการขายไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกต้องหรือไม่ 2. การประกอบกิจการรับจ้างถือเป็นการให้บริการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการใน ต่างประเทศโดยมีสาระสำคัญของการรับจ้างทำของเกิดขึ้นในไทย และได้ส่งผลของการให้บริการไปใช้ ในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกบริการดังกล่าวในอัตราร้อยละ 0 พร้อมทั้งมีสิทธิเครดิตภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าวทั้งหมด ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. การขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ประเภทยากำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อมิได้นำทรัพย์สินไปใช้ในกิจการอื่น นอกจากกิจการที่ได้รับยกเว้น จึงไม่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. การที่บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ประเภทกำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง และบริษัทต่างประเทศได้ว่าจ้างให้บริษัทฯ ทำการผสมเคมีภัณฑ์หรือทำให้เคมีภัณฑ์ เจือจาง โดยบริษัทฯ เป็นผู้จัดหาส่วนผสมให้หากเคมีภัณฑ์ที่ทำการผสมแล้วมีส่วนผสมหรือวัตถุดิบเป็นชนิด เดียวกับสินค้าที่บริษัทฯ ผลิตเพื่อจำหน่าย ถือเป็นการขายสินค้า เมื่อส่งไปให้บริษัทในต่างประเทศถือเป็น การส่งออกสินค้าบริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นกรณีผสมเคมีภัณฑ์หรือทำให้เคมีภัณฑ์เจือจาง โดยใช้ส่วนผสมหรือวัตถุดิบส่วนใหญ่ บริษัทต่างประเทศผู้ว่าจ้างส่งมาให้ แล้วบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดหา ถือเป็นการจ้าง ทำของและเมื่อได้ส่งเคมีภัณฑ์เจือจางดังกล่าวไปให้บริษัทในต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ ซึ่งหากการรับจ้างดังกล่าวมีหลักฐานเป็น หนังสือ บริษัทฯมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มี การใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 3. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บในฐานะผู้นำเข้า ตามมาตรา 82 (2) และ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ ส่งออกสินค้าหรือส่งออก บริษัทฯ มีสิทธิขอเครดิตหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร และไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 62/27866 |