เลขที่หนังสือ | : กค 0811/05188 |
วันที่ | : 2 มิถุนายน 2542 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการวิเทศธนกิจจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี, มาตรา 66, มาตรา 70, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47) พ.ศ.2536, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 307)ฯ |
ข้อหารือ | : ธนาคาร เอ สำนักงานวิเทศธนกิจ กรุงเทพ (A-BIBF) ขอทราบการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในการกู้ยืมเงินของกิจการวิเทศธนกิจดังต่อไปนี้ 1. กรณีที่ A-BIBF กู้ยืมเงินจากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ หรือสาขาอื่น ๆ ใน ต่างประเทศและนำมาให้กู้ยืมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ 2. กรณีที่ A-BIBF กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่นในต่างประเทศ (ซึ่งมิใช่ สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศและหรือสาขาอื่น ๆ ของธนาคารฯ ในต่างประเทศ) และนำมาให้กู้ยืมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ 3. กรณีที่ A-BIBF กู้ยืมเงินจากสถาบันเงินอื่นในต่างประเทศซึ่งเป็นบริษัทย่อย แต่เป็น คนละนิติบุคคลกับธนาคารฯ และนำมาให้กู้ยืมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ เมื่อ A-BIBF ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากการประกอบกิจการ วิเทศธนกิจออกไปยังต่างประเทศตามกรณีดังกล่าวข้างต้น A-BIBF มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีเงินได้ หรือไม่อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี ธนาคาร เอ สำนักงานวิเทศธนกิจ กรุงเทพ (A-BIBF) กู้เงินจากสำนักงานใหญ่ หรือสาขาในต่างประเทศ เพื่อมาให้กู้แก่รัฐวิสาหกิจ โดยการกู้ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก กระทรวงการคลังแล้วนั้น ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540 เนื่องจาก A-BIBF เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อ A-BIBF จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวออกไปให้กับสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ แยกพิจารณาได้ ดังนี้ 1.1 ตามหลักกฎหมายทั่วไปสาขาและสำนักงานใหญ่ถือเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้น เมื่อ A-BIBF จ่ายดอกเบี้ยออกไปให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ A-BIBF ไม่มีหน้าที่ต้องหักและ นำส่งภาษีเงินได้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และ A-BIBF ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ย ดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (11) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่อนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-เบลเยี่ยมจะกำหนดเป็นอื่น 1.2 อย่างไรก็ดี ในกรณีของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการวิเทศธนกิจนั้น มีสิทธิ ประโยชน์ตามประมวลรัษฎากรบางประการ กล่าวคือ หาก A-BIBF จ่ายดอกเบี้ยออกไปให้ สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ โดย A-BIBF ได้หักและนำส่งภาษี ตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากรแล้ว A-BIBF จะมีสิทธินำดอกเบี้ยดังกล่าวไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามข้อ 2 (ก) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47) เรื่อง กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะ กำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 แก้ไข เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 50)ฯ ประกอบกับ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 260) พ.ศ. 2535 2. กรณี A-BIBF กู้เงินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เพื่อมาให้กู้แก่รัฐวิสาหกิจ โดยการกู้ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้วนั้น เมื่อ A-BIBF จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ออกไปให้กับผู้ให้กู้ในต่างประเทศ แยกพิจารณาได้ดังนี้ 2.1 กรณีผู้ให้กู้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้ให้กู้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกา ออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2540 ดังนั้น A-BIBF จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีแต่อย่างใด 2.2 กรณีผู้ให้กู้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย A-BIBF ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด แต่ผู้ให้กู้มี หน้าที่ต้องนำดอกเบี้ยที่ได้รับจาก A-BIBF ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 62/27868 |