เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 221 (พ.ศ. 2542)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 218 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 2  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6 ทวิ ข้อ 6 ตรี ข้อ 6 จัตวา ข้อ 6 เบญจ และข้อ 7”

 

                ข้อ 2  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6 เบญจ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

                      “ข้อ 6 เบญจ  การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ในส่วนของหนี้ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญและลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันเงินสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด สำหรับหนี้ในส่วนที่ได้กัน เงินสำรองไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

                            การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญและลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันเงินสำรองครบร้อยละ 100 ตาม หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด สำหรับหนี้ในส่วนที่ได้กันเงินสำรอง ไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 จนถึงรอบ ระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2539 โดย

                                  (1) ในส่วนของหนี้ที่ได้กันเงินสำรองไว้และได้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไปแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ให้จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชี ลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

                                  (2) ในส่วนของหนี้ที่ได้กันเงินสำรองไว้แต่ไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการ คำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ การจำหน่ายหนี้สูญออกจาก บัญชีลูกหนี้ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6

                            “สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคาร พาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ”

 

                ข้อ 3  ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 218 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                      “ข้อ 7  หนี้ของลูกหนี้รายใดที่เข้าลักษณะตามข้อ 3 และได้ดำเนินการ ตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 6 ทวิ ข้อ 6 ตรี ข้อ 6 จัตวา หรือข้อ 6 เบญจ ครบถ้วน แล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายใน รอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตามข้อ 5(2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะ เวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ หรือคำขอรับชำระหนี้ และกรณีตามข้อ 6 ตรี ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ แล้วแต่กรณี”

 

                ข้อ 4  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือ หลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

 

ธารินทร์ นิมมานเหมินท์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มี ราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และได้กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถตัดจำหน่ายลูกหนี้จัดชั้นสูญ และลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญที่ได้กันเงินสำรองครบร้อยละ 100 เป็นหนี้สูญออกจากบัญชีได้ แต่ ในทางปฏิบัติสถาบันการเงินไม่ค่อยปฏิบัติตาม เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก การจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าว และหากประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะต้องดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งจะต้องใช้เวลา ในการดำเนินการนาน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายลูกหนี้จัดชั้นสูญและลูกหนี้ จัดชั้นสงสัยจะสูญดังกล่าวสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่เป็นลูกหนี้จัดชั้นสูญและลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ.เล่มที่ 95 ตอนที่ 120 วันที่ 30 ตุลาคม 2521)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022