เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ.05192 |
วันที่ | : 2 มิถุนายน 2542 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1, มาตรา 78/1, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 |
ข้อหารือ | : 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเซลลูลาร์ 900 และ ดิจิตอล จี เอส เอ็ม ในการเรียกเก็บค่าเช่าเลขหมายประจำเดือน และค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก ลูกค้า บริษัทฯ ได้ออกเอกสารซึ่งเป็นทั้งใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีในฉบับเดียวกัน โดยบริษัทฯ ได้ออก ใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าบริการและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า และออกใบเสร็จรับเงินเมื่อ ได้รับชำระเงินตามใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี จากลูกค้าแล้วเท่านั้น 2. ในช่วงก่อนการปรับปรุงลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 จากอัตราร้อยละ 10.0 เป็นอัตราร้อยละ 7.0 (ก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542) นั้น บริษัทฯ ได้ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าบริการและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 10.0 และเมื่อลูกค้านำเงินมาชำระ บริษัทฯ จะเก็บเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 10.0 ตามใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกค้าจะนำเงินมาชำระก่อนหรือหลังวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 สำหรับใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ซึ่งบริษัทฯ ออกให้ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 และเมื่อ ลูกค้านำเงินมาชำระ บริษัทฯ จะเก็บเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 7.0 ตามใบแจ้งหนี้ /ใบกำกับภาษี เช่นเดียวกัน จากข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ ขอทราบว่า วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัทฯ ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลด อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 สำหรับการขายสินค้าการให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งออกใบกำกับภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 จึงต้อง เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการในอัตราร้อยละ 7.0 2. การให้เช่าเลขหมายประจำเดือน และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็น "การให้บริการ" ตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง ประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการจึงเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระ ค่าบริการ เว้นแต่ กรณีที่มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการรับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ความรับผิดในการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1 (1) (ก) แห่ง ประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ซึ่งพระ ราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ. 2542 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ความ รับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการในอัตราร้อยละ 10.0 และยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 โดยเมื่อผู้ใช้บริการนำเงินมาชำระ ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 บริษัทฯมีสิทธิเก็บเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ของค่าบริการตาม มูลหนี้ในใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษีที่ได้ออกไปนั้น |
เลขตู้ | : 62/27872 |