เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.05364
วันที่: 8 มิถุนายน 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้คืนราคาสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อและค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาของศาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 77/1, มาตรา 78/1, มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.36/2536ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์กระบะกับ
นาย ข ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2539 ในราคา 420,000 บาท กำหนดผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน
จำนวน 48 งวด เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 17 มิถุนายน 2539 แต่ผู้เช่าซื้อไม่ได้ชำระค่างวดเลย
บริษัทฯ จึงได้แจ้งเลิกสัญญาเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2539 และ
ได้ฟ้องคดีต่อศาล เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 โดยศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540
ให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(จำเลยร่วม) ร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนบริษัทฯ หากคืนไม่ได้ให้ใช้
คืนราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 300,000 บาท และกำหนดให้ชำระค่าขาดประโยชน์แก่บริษัทฯ นับแต่
วันที่ผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,000 บาท และเป็นเดือน ๆ ละ 3,000 บาท นับแต่วันถัดจาก
วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนบริษัทฯ ทั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลาเพียง 9 ปี
ขอทราบว่า
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะถือจำนวนเงินตามคำพิพากษาเป็นรายได้ตามเกณฑ์
สิทธิ โดยรับรู้รายได้เป็นรายได้ค้างรับ เป็นจำนวนเท่าใด และสำหรับค่าขาดประโยชน์รายเดือน ๆ ละ
3,000 บาท เป็นเวลา 9 ปี บริษัทฯ จะรับรู้เป็นรายได้อย่างไร
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้รับเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 12,000
บาท ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และสำหรับ
ค่าขาดประโยชน์รายเดือน ๆ ละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 ปี ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้น
เมื่อใด
แนววินิจฉัย: 1. ค่าใช้คืนราคารถยนต์จำนวน 300,000 บาท กรณีจำเลยไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันที่
เช่าซื้อคืนให้บริษัทฯ ได้
1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้ค่าเช่าซื้อรถยนต์
ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2539 ตามเกณฑ์สิทธิ์ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อตามมาตรา
65 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว เมื่อบริษัทฯ ได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อคืน และศาล
ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยฯ คืนรถยนต์คันที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้คืนราคารถยนต์จำนวน 300,000
บาท ค่าใช้คืนราคารถยนต์ดังกล่าวจึงถือเป็นหนี้ค่ารถยนต์ตามคำพิพากษา ให้บริษัทฯ นำมารับรู้เป็น
รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำเลยฯ ชำระค่าใช้คืนรถยนต์ ดังนี้
(ก) ถ้าค่าใช้คืนราคารถยนต์มีจำนวนมากกว่าจำนวนรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับรู้เป็น
รายได้ไว้แล้ว ผลต่างดังกล่าวถือเป็นผลประโยชน์จากการขาย บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้
ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำเลยฯ ชำระค่าใช้คืนรถยนต์
(ข) ถ้าค่าใช้คืนราคารถยนต์มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับรู้เป็น
รายได้ไว้แล้ว ผลต่างดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการบริษัทฯ ย่อมหักเป็น
รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำเลยฯ ชำระค่าใช้คืนรถยนต์ ไม่ต้องห้ามตาม
มาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปแล้ว ถ้าจำเลยฯ คืน
รถยนต์คันที่เช่าซื้อให้บริษัทฯ ไม่ได้ และได้ใช้คืนราคารถยนต์ตามคำพิพากษาแทนเงินจำนวนนี้จึงมิใช่
ค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ถือเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าตามมาตรา
79 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อจำนวนเงินตามคำพิพากษาของศาลมีจำนวนไม่เกินกว่ามูลค่าสินค้าที่
เหลืออยู่ตามสัญญาให้เช่าซื้อ บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ได้รับในเดือนภาษีที่ได้รับเงิน
นั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 4 (4) (ก)ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2536
2. ค่าขาดประโยชน์นับตั้งแต่วันผิดนัดวันที่ 17 มิถุนายน 2539 ถึงวันฟ้องวันที่ 7
พฤศจิกายน 2539 จำนวน 12,000 บาท และค่าขาดประโยชน์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งรถยนต์คืน
เดือนละ 3,000 บาท แต่มีระยะเวลาเพียง 9 ปีนั้น 2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากศาลได้กำหนด
ค่าขาดประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองรถยนต์อยู่จนกว่าจะส่งคืนให้
บริษัทฯ จึงถือเป็นหนี้ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์สินตามคำพิพากษา ซึ่งมิใช่รายได้ค่าเช่าซื้อที่บริษัทฯ ได้รับรู้
เป็นรายได้ไปแล้ว บริษัทฯ จึงต้องนำมารับรู้เป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำเลยฯ ชำระ
ค่าขาดประโยชน์นั้น 2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นค่าบริการที่ได้รับจากการให้บริการ
ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำเงินค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวมารวม
คำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อได้รับชำระค่าขาดประโยชน์นั้นตามมาตรา 78/1 (1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 4 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ ลงวันที่ 15
พฤศจิกายน พ.ศ.2536
เลขตู้: 62/27880

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020