เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.06341
วันที่: 1 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, มาตรา 47, มาตรา 48, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อหารือ: นาย ก มีพี่น้องรวม 6 คน ได้รับทรัพย์มรดกที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 44 1/10
ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 2 ชั้น จำนวน 38 คูหา และตึกแถว 2.75 ชั้น จำนวน 6 คูหา
รวมทั้งสิ้น 44 คูหาจากบิดาซึ่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2527 ตึกแถวดังกล่าวสร้างตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2514 โดยบิดาได้ให้เช่าและสัญญาเช่ามีภาระผูกพันถึงเดือนมกราคม 2530 เมื่อครบสัญญาเช่า
ผู้จัดการมรดกทั้ง 6 คนประสงค์จะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งแปลง แต่ไม่สามารถขายได้ เนื่องจาก
ต้องฟ้องให้ผู้เช่าออก ตึกแถวดังกล่าวมิได้ให้เช่าและไม่ได้รับค่าเช่ามาหลายปีแล้ว แต่ต้องเสีย
ภาษีโรงเรือนเพราะเคยให้เช่าและมีผู้อาศัยอยู่ผู้จัดการมรดกทั้ง 6 คนได้ร่วมกันฟ้องเพื่อขับไล่ผู้เช่าออก
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 และตกลงกันได้โดยผู้เช่าประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว ผู้จัดการมรดกทั้ง
6 คน ได้จดทะเบียนโอนมรดกให้ทายาททั้ง 6 คนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 และจดทะเบียนแบ่ง
กรรมสิทธิ์รวมให้ทายาททั้ง 6 คน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 โดยในส่วนของนาย ก ได้รับมรดกที่ดิน
พร้อมตึกแถว เนื้อที่ 1 งาน 02 8/10 ตารางวา และต่อมานาย ก ได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิม
ออกเป็น 8 โฉนด ตามจำนวนเนื้อที่ของตึกแถวแต่ละคูหา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และขายที่ดินพร้อม
ตึกแถวดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2541 จำนวน 5 คูหา วันที่ 6 พฤษภาคม 2541 จำนวน 1 คูหา
และวันที่ 17 มิถุนายน 2541 จำนวน 1 คูหา
การขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว) ของผู้รับมรดกแต่ละคน จะต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีประเภทใดหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง ผู้จัดการมรดก จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและโอน
อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว) จำนวน 44 คูหา ให้ทายาทจำนวน 6 คน
หลังจากนั้น นาย ก ทายาทได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิมออกเป็นแปลงย่อย จำนวน 8 แปลง ตาม
จำนวนเนื้อที่ของตึกแถวแต่ละคูหาแล้วขายอสังหาริมทรัพย์นั้นไปตามสภาพเดิมที่รับโอนมา หรือกรณีแบ่ง
ขายเฉพาะส่วน ซึ่งมิได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนา หรือทำสาธารณูปโภคใด ๆ อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับ
การจัดสรร ย่อมไม่เข้าลักษณะการขายในลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรรที่ดิน ตามมาตรา 3 (4) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 แต่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทาง
มรดก ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244)
พ.ศ. 2534
2. เงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นมรดกตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีสิทธิ
เลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้ ตามมาตรา 48 (4) (ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยนำเงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นมรดกหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้ เหลือ
เท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิแล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้คำนวณตาม
อัตราภาษีเงินได้ ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเมื่อ
คำนวณภาษีแล้วต้องเสียไม่เกินร้อยละ 20 ของราคาขายวิธีการดังกล่าวไม่มีการหักลดหย่อนตามที่กำหนด
ไว้ในมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร
ในกรณีเลือกเสียภาษีโดยนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อย่างอื่น ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50
ของเงินได้เหลือเท่าใดนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นตามวรรคสามของมาตรา 48 (4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 62/27965

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020