เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/06381
วันที่: 2 กรกฎาคม 2542
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ, ฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542)ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ มีโครงการจะปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน
การบริหารงาน ซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวนตำแหน่งในบริษัทฯ ลดลงในส่วนของพนักงานประจำที่ไม่มี
ตำแหน่งในโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ มีโครงการให้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่พนักงานที่
สมัครใจลาออกเป็นเงินจำนวนหนึ่งแต่ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษนี้เป็นไป
ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีขึ้นระหว่างบริษัทฯ กับผู้แทนของพนักงานของบริษัทฯ เมื่อปลายปี
2541 ต่อมาเมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542)ฯ ได้มีข้อเสนอจากพนักงานว่า
สำหรับพนักงานที่จะถูกผลกระทบจากการปรับองค์กรในอนาคต ให้บริษัทฯ ออกจดหมายเลิกจ้างพนักงานที่
เกี่ยวข้องแทนการลาออกเองของพนักงาน โดยให้บริษัทฯ แยกจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างดังกล่าวเป็น 2
ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นค่าชดเชยตามที่กำหนดในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและส่วนที่เป็นเงินส่วนที่เหลือ
ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้างต้น
ถ้าบริษัทฯ ประสงค์จะปฏิบัติตามข้อเสนอของพนักงานดังกล่าว ค่าชดเชยตามที่กำหนดใน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานในส่วนที่ 1 ที่ไม่เกินจำนวน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย: กรณีที่บริษัทฯ ต้องการลดพนักงานและได้จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลง
เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่พนักงานที่สมัครใจลาออก ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้พนักงานดังกล่าว ไม่
เข้าลักษณะเป็นค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงไม่ได้รับยกเว้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542)ฯ แต่ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้างพนักงานตามกฎหมาย
ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โดยบริษัทฯ แยกจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างดังกล่าวเป็น 2 ส่วน และหาก
การแยกจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ค่าชดเชยตาม
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือน
ค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่กล่าวมาข้างต้น
เลขตู้: 62/27970

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020