กฎกระทรวง
ฉบับที่ 224 (พ.ศ. 2542)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (52) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(52) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะที่จ่ายให้แก่
(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบัน การเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ข) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย
ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือ หลังวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2542
พิเชษฐ พันวิชาติกุล
รัฐมนตรีว่าการฯปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
___________________________________________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 47(1)(ซ) แห่ง ประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้นได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อมากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไข ปัญหาในระบบสถาบันการเงินและกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินได้เข้า รับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนสถาบันการเงินโดยลูกหนี้จะต้องผ่อนชำระให้แก่กองทุนรวม ดังกล่าวต่อไป แต่เนื่องจากกองทุนรวมไม่มีฐานะเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัท ประกันชีวิต สหกรณ์หรือนายจ้าง ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงทำให้ ลูกหนี้ดังกล่าวไม่อาจนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้แก่กองทุนรวมทั้งสองไปหักค่าลดหย่อนได้อีก ต่อไป ดังนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิม สมควรกำหนดให้ เงินได้เท่าจำนวนที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนรวมดังกล่าว เป็นเงินได้พึง ประเมินที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 137ก. วันที่ 30 ธันวาคม 2542)